การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 412
เขียนโดย :
การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 412
เขียนโดย :

Affiliate Marketing คืออะไร ? (What's Affiliate Marketing ?)

ในยุคที่โลกดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ หนึ่งในรูปแบบการตลาดที่ตอนนี้กำลังมาแรงอย่างมากในปัจจุบันนี้ก็คือ "การตลาดแบบพันธมิตร" ภาษาไทยอาจไม่คุ้นชินเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยมีใครพูดกัน เนื่องจากนิยมพูดทับศัพท์กันไปเลยว่า "แอฟฟิลิเอท มาร์เก็ตติ้ง (Affiliate Marketing)"

บทความเกี่ยวกับ Marketing อื่นๆ

Affiliate Marketing เป็นการตลาดแบบใด ? ทำไมมันถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ? ในบทความนี้จะมาอธิบายให้ผู้ที่สนใจเข้าใจมันมากขึ้น ...

เนื้อหาภายในบทความ

Affiliate Marketing คืออะไร ? (What's Affiliate Marketing ?)

จะดีไหม ? หากเราสามารถทำเงินได้ทุกที่, ทุกเวลา หรือแม้กระทั่งในขณะที่ตอนกำลังนอนหลับอยู่ ฟังแล้วเหมือนเรากำลังมานำเสนอการขายตรง แต่ไม่ใช่นะครับ แต่นี่ก็เป็นแนวคิดที่ทำให้การทำ Affiliate Marketing เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

การตลาดแบบพันธมิตร หรือ Affiliate Marketing เป็นการตลาดที่ "ผู้ทำ" จะได้รับค่าคอมมิชชั่น (Commission) จากการช่วยแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร (Affiliate) ช่วยทำการตลาดด้วยวิธีการง่าย ๆ ส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจทำ ก็แค่เพียงเลือกสินค้าที่ต้องการ นำมันไปสร้าง "ลิงก์ (Link)" แนะนำสินค้าของตนเองขึ้นมา จากนั้นก็นำลิงก์ดังกล่าวไปเผยแพร่ในที่ต่าง ๆ โดยมากก็จะเป็นตามโพสต์ หรือช่องความเห็นบน โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ทุกแพลตฟอร์ม หลังจากนั้น หากมีคนที่เห็นลิงก์แล้วคลิกเข้าไปซื้อสินค้า เจ้าของลิงก์ก็จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการขายทุกคำสั่งซื้อ

ตลาด Affiliate Marketing นั้นมีมูลค่ามหาศาลมาก จากผลสำรวจในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) เฉพาะตลาดในประเทศ สหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึง $9,560,000,000 (ประมาณ 330,804,661,836 บาท) มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) จะขยายตัวเป็น $12,000,000,000 (ประมาณ 415,266,009,600 บาท) นั่นหมายความว่ายังมีที่ว่างอีกมากมาย ที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามแปะลิงก์ได้

การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
ภาพจาก : https://www.bigcommerce.com/articles/ecommerce/affiliate-marketing/

ประวัติความเป็นมาของ Affiliate Marketing (History of Affiliate Marketing)

แนวคิดการแบ่งปันรายได้ หรือการจ่ายค่าคอมมิชชั่นสำหรับการแนะนำสินค้า และบริการ นั้นมีมาอย่างยาวนาน โดยเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ตามหลังเทคโนโลยี World Wide Web (WWW) เกือบ 4 ปี เท่านั้น (พ.ศ. 2537)

โดยแนวคิดการทำ Affiliate Marketing ผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ถูกคิดค้น และมีการจดสิทธิบัตรโดย William J. Tobin ผู้ก่อตั้งบริษัท PC Flowers & Gifts โดยเขาได้พัฒนามันบนเครือข่ายที่มีชื่อว่า Prodigy ในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) William J. Tobin ได้ร่วมมือกับ IBM ผู้ซึ่งครอบครอง Prodigy อยู่ 50% เปิดตัว PC Flowers & Gifts เวอร์ชันเบต้าบนอินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะเปิดตัวเว็บไซต์เวอร์ชัน Commmercial ในปีถัดมา มีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อทำ Affiliate Marketing กว่า 2,600 ราย 

หลังจากประสบความสำเร็จกับไอเดียนี้ William J. Tobin ก็ได้จดสิทธิบัตรแนวคิดในการติดตาม และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพันธมิตรทางการตลาดทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
ภาพจาก : https://patents.google.com/patent/US6141666A/en

Affiliate Marketing ทำงานอย่างไร ? (How does Affiliate Marketing work ?)

ในระบบนิเวศของ Affiliate Marketing จะมี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย

  1. ผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้า (Seller and Product Creators)
  2. พันธมิตร หรือผู้โฆษณา (The Affiliate or Advertiser)
  3. ผู้บริโภค (Consumer)

โดยแต่ละฝ่ายจะมีการทำงานร่วมกัน และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้า (Seller and Product Creators)

ผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ,บริษัท หรือโรงงานขนาดใหญ่ก็ตาม อาจเรียกอีกอย่างว่าเป็นแบรนด์ก็ได้ โดยทั่วไปก็จะมีการทำตลาดด้วยตนเอง หรือมีฝ่ายการตลาด เพื่อคอยทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่ในการตลาดแบบ Affiliate Marketing ทางแบรนด์จะจับมือกับพันธมิตรที่ช่วยแนะนำสินค้าให้ และแบ่งกำไรจากยอดขายให้เป็นค่าตอบแทน

พันธมิตร หรือผู้โฆษณา (The Affiliate or Advertiser)

พันธมิตร หรือผู้โฆษณา สามารถเรียกว่าเป็น "ผู้เผยแพร่" (Publisher) ก็ได้ โดยอาจเป็นบุคคล หรือบริษัทที่ทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของผู้ขาย โดยจะโปรโมตสินค้าเพื่อโน้มน้าว และชักชวนให้ผู้บริโภคอย่างซื้อผลิตภัณฑ์ เรียกบ้าน ๆ ว่าการป้ายยานั่นเอง คอมเมนต์ที่ถูก สแปม (Spam) ตามกลุ่มต่าง ๆ บน Social Network นักแปะลิงก์กล่าวได้ว่าเป็นพันธมิตรที่เราพบเห็นได้บ่อยที่สุด หากมีผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่ถูกนำมาแปะ เจ้าของลิงก์ก็ได้ส่วนแบ่งกำไรจากยอดขายที่ทำได้

ผู้บริโภค (Consumer)

แน่นอนว่า ระบบ Affiliate Marketing จะทำงานไม่ได้เลย หากไม่มีผู้บริโภคที่คอยซื้อสินค้า

หลังจากพันธมิตรได้แนะนำสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ผู้บริโภคที่รับชมเนื้อหาแล้วเกิดความถูกใจ อยากสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ก็สามารถเลือกคลิกซื้อผ่านลิงก์ Affiliate ที่ทางพันธมิตรได้แปะเอาไว้ หลังจากที่ผู้บริโภคได้คลิกลิงก์ดังกล่าว ก็จะพาไปหน้าร้านค้าของผู้ขาย เมื่อสั่งซื้อ และชำระค่าสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้ขายก็จะนำกำไรส่วนหนึ่งมาแบ่งให้กับทางพันธมิตร

การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
ภาพจาก : https://www.reliablesoft.net/what-is-affiliate-marketing/

ประเภทของ Affiliate Marketing (Types of Affiliate Marketing)

การทำ Affiliate Marketing มีการแบ่งได้หลายประเภท บางคนทำเพื่อเงินล้วน ๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า หรือสนใจในคุณสมบัติของตัวสินค้าเลย นักแปะลิงก์ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในประเภทนี้ แต่บางคนก็เป็นนักรีวิวที่ได้ทดลองใช้งานสินค้าดังกล่าวอย่างจริงจัง ก่อนที่จะนำลิงก์มาแปะเพื่อหารายได้เสริม และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจสั่งซื้อสินค้า

ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) Pat Flynn นักการตลาดด้าน Affiliate Marketing ได้แบ่งการทำออกเป็น 3 ประเภท คือ ไม่ผูกพัน (Unattached), เกี่ยวข้อง (Related) และมีส่วนร่วม (Involved)

การตลาดแบบ Affiliate Marketing คืออะไร ? ได้รายได้มาจากไหน ?
ภาพจาก : https://keydifferences.com/difference-between-affiliate-marketing-and-digital-marketing.html

ไม่ผูกพัน (Unattached)

สำหรับการทำ Affiliate Marketing แบบไม่ผูกพัน (Unattached) ผู้ทำจะไม่มีความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขากำลังโปรโมต อาจไม่รู้จัก หรือเคยใช้งานเลยด้วยซ้ำไป พวกเขาแค่หวังรายได้จากการตลาดแบบ Pay-Per-Click (PPC) จากผู้บริโภคที่ผ่านมาเห็น แล้วกดสั่งซื้อ

Affiliate Marketing มีผู้ทำเป็นจำนวนมากที่สุด เนื่องจากทำได้ง่าย สามารถสร้างรายได้เสริมได้โดยไม่ต้องลงทุน และปวดหัว กับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

เกี่ยวข้อง (Related)

สำหรับแบบ เกี่ยวข้อง (Related) สายนี้ จัดเป็นทางสายกลางระหว่างการทำ Affiliate Marketing แบบไม่ผูกพัน (Unattached) และแบบมีส่วนร่วม (Involved) 

พันธมิตรที่ทำ Affiliate Marketing ในกลุ่มนี้ อาจไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่แนะนำมาก่อน แต่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายอยู่บ้าง 

ตัวอย่างเช่น หากคุณทำช่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผู้ติดตามของคุณก็ย่อมเป็นกลุ่มคนที่สนใจในด้านคอมพิวเตอร์เช่นกัน หากคุณนำสินค้าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาทำลิงก์ Affiliate ถึงมันจะเป็นสินค้าที่คุณไม่เคยใช้มาก่อนเลยก็ตาม แต่ในกรณีนี้จะถือว่าการทำแบบเกี่ยวข้อง (Related) เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้อาจมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของเจ้าของช่องได้ เพราะคุณไม่เคยใช้มันมาก่อน หากคุณแนะนำสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ มีคนเชื่อซื้อไปใช้แล้วได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี คุณที่เป็นผู้แนะนำจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

มีส่วนร่วม (Involved)

พันธมิตรที่จัดอยู่ในกลุ่มมีส่วนร่วม (Involved) จะหมายถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด กับผลิตภัณฑ์ ที่พวกเขาแนะนำ มีการทดสอบได้ลองใช้ด้วยตัวเอง ทำให้เขามีความน่าเชื่อถือ ผู้ชมก็เกิดความเชื่อมั่นเมื่อได้รับการป้ายยาจากเนื้อหาที่ถูกแนะนำในฐานะแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

การตลาดแบบมีส่วนร่วม (Involved) มักต้องใช้เวลาในการทำงานนาน เนื่องจากต้องทดสอบ และทำโปรดักชันตัวเนื้อหา อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว

รายได้จากการทำ Affiliate Marketing มาจากไหน ? (How do Affiliate Marketers get paid ?)

การตลาดแบบ Affiliate Marketing เป็นวิธีการหาเงินที่ง่ายดาย สามารถเริ่มทำได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง และวุ่นวายกับการขายสินค้าจริง จึงเป็นงานที่ผู้ต้องการหารายได้เสริมให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก บางคนทำสำเร็จก็ยึดเป็นอาชีพหลักเลยก็มี ทีนี้ หลายคนอาจจมีข้อสงสัยว่า รายได้จากการทำ Affiliate Marketing มาจากช่องทางไหนบ้าง ? ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ค่าคอมมิชชั่นเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของร้าน หรือแพลตฟอร์มที่เปิดโครงการ Affiliate Marketing กำหนดโปรแกรมการสร้างรายได้เอาไว้อย่างไร ?

Pay Per Sale

เริ่มกันที่รายได้ที่เป็นพื้นฐานหลักของ Affiliate Marketing กันก่อน โปรแกรมแบบ Pay Per Sale (จ่ายตามขาย) ผู้ขายจะดำเนินการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับพันธมิตร ตามเปอร์เซ็นต์ของราคาขายของผลิตภัณฑ์ หลังจากที่ผู้บริโภคได้ซื้อผลิตภัณฑ์จากลิงก์ Affiliate ที่พันธมิตรสร้างขึ้นมา

Pay Per Lead

โปรแกรมนี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าแบบแรก โดยผู้ทำ Affiliate จะได้รับรายได้จากการที่สามารถพาลูกค้าเข้าไปเยี่ยมชมร้านค้าได้ โดยคิดตาม Pay Per Lead (จ่ายตามจำนวนคน) โดยอาจมีเงื่อนไขในการสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น ลูกค้าจะต้องมีการดำเนินกิจกรรมบางอย่างให้สำเร็จก่อน อาจจะเป็นการกรอกแบบฟอร์ม, ลงทะเบียน, คลิกรับอีเมลข่าว ฯลฯ

Pay Per Click

เนื่องจากการทำ Affiliate Marketing จะเป็นการพยายามให้ลูกค้าคลิกลิงก์ เพื่อเข้าชมเว็บไซต์ที่เป็นร้านค้า ดังนั้น มันจึงมีความสัมพันธ์กับ การทำ SEO ด้วยในบางส่วน

อย่างไรก็ตาม แม้การทำ SEO จะสามารถสร้าง Organic Traffic ได้ฟรี แต่ว่าในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ทำให้มีการทำ Affiliate Marketing ในรูปแบบของโปรแกรม Pay Per Click (จ่ายตามคลิก) เกิดขึ้นมาด้วย

โดยพันธมิตรที่เข้าร่วมโปรแกรม Affiliate Marketing จะสามารถสร้างรายได้ หากลิงก์ของเขามีผู้บริโภคคลิกเข้ามา และย้ายไปยังเว็บไซต์ของผู้ขาย ก็จะสามารถสร้างรายได้เช่นกัน

ทั้งนี้ Pay Per Click จะมีการแบ่งพื้นฐานออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่

CPA (Cost-Per-Acquisition)

โมเดลนี้ พันธมิตรจะได้รับค่าตอบแทนทุกครั้ง ที่ผู้ขายได้ลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ลิงก์ Affiliate ของพันธมิตร พาลูกค้าไปยังร้านค้าออนไลน์ของผู้ขาย และลูกค้าดำเนินกิจกรรมบางอย่างสำเร็จ

EPC (Earnings-Per-Click)

เป็นการคิดแบบเหมารวม เช่น เฉลี่ยต่อ 100 คลิก สำหรับพันธมิตรทั้งหมดที่อยู่ในโปรแกรมของผู้ขาย

Pay Per Install

การสร้างรายได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นการขายสินค้าเสมอไป เพราะผู้ขายที่เป็นบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ ก็มีการนำเสนอ Affiliate Marketing เช่นกัน

ในระบบการจ่ายเงินนี้ พันธมิตรจะได้รับค่าตอบแทนทุกครั้งที่พวกเขาสามารถส่งผู้บริโภคไปยังเว็บไซต์ของผู้พัฒนา และมีการดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งสำเร็จ ก็จะได้เงินตามโปรแกรมที่กำหนดไว้

ทำไมคนถึงทำ Affiliate Marketing กัน ? (Why do people do Affiliate Marketing ?)

รายได้แบบพาสซีฟ (Passive Income)

งานแบบทั่วไป เราจะต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมา หากคุณหยุดทำก็จะไม่ได้ค่าจ้าง แต่ Affiliate Marketing หลังจากที่เราสร้างลิงก์ นำมันไปโพสต์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว มันก็สามารถสร้างรายได้ตลอดเวลา ต่อให้เรากำลังหลับ ไปเที่ยวเล่นอยู่ มันก็ยังทำเงินได้ ตราบใดที่ยังมีคนเห็นลิงก์ Affiliate ของคุณ แล้วเข้าไปซื้อสินค้าอยู่

ไม่ต้องสนับสนุนลูกค้า (No Customer Support)

เรื่องน่าปวดหัวที่สุด สำหรับการทำธุรกิจคือ การดูแลลูกค้านี่แหละ แต่การทำ Affiliate Marketing เราเป็นเพียงคนหาลูกค้าเท่านั้น คนขายเป็นผู้รับผิดชอบการดูแลลูกค้า ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ หรือสนใจความพึงพอใจของลูกค้าเลย

ทำงานที่บ้าน (Work From Home)

ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าออฟฟิศ ไม่อยากเสียเวลาไปกับการเดินทาง Affiliate Marketing เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต

คุ้มค่าคุ้มราคา (Cost-Effective)

ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนในการเริ่มต้น และเงินสดหมุนเวียนเพื่อใช้ในการจัดจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่การตลาดแบบ Affiliate Marketing สามารถเริ่มทำได้ด้วยต้นทุนต่ำ, รวดเร็ว, ไม่ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องสร้างสินค้า การเริ่มงานในสายนี้จึงค่อนข้างง่าย และตรงไปตรงมา

สะดวกสบาย คล่องตัว (Convenient and Flexible)

งานค่อนข้างอิสระเพราะทำเหมือนฟรีแลนซ์ ได้รับอิสระในการตั้งเป้าหมายของคุณเอง และกำหนดเวลาทำงานของคุณเองได้ และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัด และระเบียบข้อบังคับของบริษัท รวมทั้งเพื่อนร่วมทีมนิสัยไม่ดีอีกด้วย

ผลตอบแทนตามการทำงาน (Performance-Based Rewards)

งานทั่วไปคุณมักได้ค่าแรงตายตัว ไม่ว่าคุณณจะทำงานเยอะแค่ไหน เงินเดือนก็เท่าเดิม แต่ Affiliate Marketing ผลตอบแทนจะขึ้นกับความขยัน การพัฒนาทักษะในการรีวิว และเขียนแคมเปญที่น่าสนใจ จะส่งผลให้รายได้ของคุณดีขึ้น ได้รับค่าตอบแทนตามผลงานที่ดีขึ้น

ช่องทางในการทำ Affiliate Marketing (Common Types of Affiliate Marketing Channels)

มีช่องทางการตลาดอยู่มากมาย ที่แบรนด์สามารถเลือกทำโปรแกรม Affiliate Marketing ได้ ไม่ได้มีแค่การแปะลิงก์เท่านั้น ที่ค่อนข้างแพร่หลายก็อย่างเช่น

ผู้มีอิทธิพล (Influencers)

ผู้มีอิทธิพล (Influencer) คือผู้สร้างเนื้อหาที่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในสังคม บุคคลเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่ดี เอื้อต่อการได้รับประโยชน์จากการทำ Affiliate เนื่องจากพวกเขามีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะนำผู้บริโภคไปรู้จักกับสินค้าของผู้ขายผ่านโพสต์ในโซเชียลมีเดีย, Blog และการมีปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ กับผู้ติดตาม 

เราสามารถเห็นแคมเปญการตลาดจาก อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากใน Instagram และ TikTok ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ ก็นิยมร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้

บล็อกเกอร์ (Bloggers)

เนื้อหาที่ Bloggers สร้าง มักจะมีการสอดแทรกประสบการณ์ในการใช้งาน และรีวิวสินค้าให้มีความน่าสนใจ ทำให้ผู้ที่สนใจเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถพาผู้เข้าชม Blog ไปยังลิงก์ Affiliate ได้

ไมโครไซต์ที่เน้นการค้นหาแบบชำระเงิน (Paid Search-Focused Microsites)

ไมโครไซต์ (Microsites) หมายถึงเว็บไซต์ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถสร้างมาเพื่อเน้นการแนะนำสินค้า หรือบริการโดยเฉพาะ แล้วนำมันไปซื้อโฆษณาบนหน้าเสิร์ชเอนจิน เพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจ มีการค้นหาข้อมูลสินค้า ไปยังหน้าสินค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไมโครไซต์เหล่านี้ จะแยกออกจากเว็บไซต์หลักของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มอัตราการ Conversion ให้สูงขึ้น 

รายการอีเมล (Email Lists)

ถึงแม้ว่าการตลาดผ่านอีเมลจะเป็นเทคนิคโบราณที่ใช้กันมานานแล้ว แต่มันก็ยังเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพดี และค่าใช้จ่ายต่ำ พันธมิตรทางการตลาดบางคนใช้ประโยชน์จากการส่งอีเมลที่มีลิงก์ไปยังหน้าสินค้าไปหาลูกค้าโดยตรง 

เว็บไซต์สื่อขนาดใหญ่ (Large Media Websites)

เว็บไซต์สื่อที่มีชื่อเสียง จะมีผู้เข้าชมต่อวันเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ซึ่งบนหน้าเว็บก็จะมีพื้นที่สำหรับวางลิงก์ และแบนเนอร์ ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถใช้ในการทำ Affiliate ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน

ข้อดี และข้อเสีย ของการทำ Affiliate Marketing (Pros and Cons of Affiliate Marketing)

ข้อดี

  • เริ่มต้นง่าย ไม่ต้องลงทุน
  • เป็นรายได้แบบไหลมาเทมา (Passive Income)
  • การทำงานมีความยืดหยุ่น
  • มีศักยภาพในการสร้างรายได้สูง
  • ผลิตภัณฑ์ และตลาดขนาดใหญ่ให้เลือก
  • สามารถทำงานจากที่ไหน ตอนไหนก็ได้

ข้อสังเกต

  • รายได้มาจากค่าคอมมิชชั่นเพียงอย่างเดียว
  • ไม่มีการควบคุม การแข่งขันเลยสูงมาก
  • รายได้ไม่มีความแน่นอน
  • แข่งขันสูง เพราะไม่ว่าใครก็ทำได้
  • การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเป็นเรื่องยาก
  • ไม่มีสวัสดิการ และความมั่นคง

 


เมื่อเรามองไปรอบตัว เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลก ทุกวันนี้ทุกคนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และยอดขายออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากจับจังหวะ และหาโอกาสที่ดีได้ การทำ Affiliate Marketing ก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้คุณได้