Digital Marketing คืออะไร ? ทำไมถึงต้องทำ ? มีกี่ประเภท ? พร้อมแนวทาง
Digital Marketing คืออะไร ?
ไม่ว่าคุณจะประกอบธุรกิจประเภทไหนก็ตาม หากต้องการให้ประสบความสำเร็จเติบโตจนทำกำไรได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการประกาศบอกให้โลกรู้การมีอยู่ของคุณด้วย ไม่อย่างนั้นใครจะมาซื้อสินค้า หรือใช้บริการของคุณได้ ถ้าเขาไม่รู้จัก ไม่รู้การมีตัวตนอยู่ของธุรกิจที่คุณกำลังดำเนินการอยู่ตั้งแต่แรก
สมัยก่อน การประกาศก็จะใช้วิธีบอกต่อแบบปากต่อปาก หรือติดป้ายประกาศตามจุดต่าง ๆ ภายในเมือง แต่ในยุคดิจิทัลนี้ เรามี World Wide Web (WWW) ที่เชื่อมต่อโลกใบนี้เข้าด้วยกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แม้คุณจะใส่ชุดนอนพักผ่อนอยู่บนเตียง คุณก็สามารถป่าวประกาศข้อมูลธุรกิจของคุณให้โลกรู้ได้ หรือที่เรียกว่าการทำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
พื้นฐานในการทำ Digital Marketing มีอะไรที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง ในบทความนี้มาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นกัน
การตลาดดิจิทัล คืออะไร ? (What is Digital Marketing ?)
อาจจะฟังเหมือนเป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดินไปสักหน่อย แต่ Digital Marketing ก็ตามชื่อของมันเลย มันเป็นการตลาดบนโลกออนไลน์นั่นเอง ความหมายของมันมีขอบเขตค่อนข้างกว้าง แต่คุณสามารถมองได้ว่ามันเป็นอะไรก็ได้ที่กระตุ้นให้ผู้คนที่เห็นเกิดความสนใจกับเนื้อหาดิจิทัลของคุณ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา, อีเมล, โพสต์บนโซเชียลมีเดีย, นิตยสารออนไลน์ ฯลฯ แล้วเกิดความรู้สึกอยากกลายมาเป็นลูกค้าของคุณ หรืออย่างน้อยก็มาเป็น การนำพาเพื่อไปสร้างยอดขาย (Lead Generation)
ภาพจาก https://www.inca-accountants.co.uk/resources/book-onto-our-workshop-learn-the-secrets-of-digital-marketing/
จะเห็นได้ว่า Digital Marketing เป็นอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ เราอาจจะเลือกทำโฆษณาใน Google Ads, ส่งอีเมลประชาสัมพันธ์ไปหาลูกค้า, ทำโพสต์สอนแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางแบรนด์ของคุณ ฯลฯ
ในปัจจุบันนี้ หากเราลองมองไปยังสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวของเราในชีวิตประจำวัน เราจะสังเกตเห็นได้ว่ามี Digital Marketing รายล้อมรอบเราเต็มไปหมด การหาลูกค้าใหม่ในยุคนี้ แต่ละแบรนด์อาจจะมีกลยุทธ์ และวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีแบรนด์ไหนที่ไม่ใช้ Digital Marketing
ทำไมถึงต้องทำ การตลาดดิจิทัล ? (Why do we have to do Digital Marketing ?)
ธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ขยับตัวเองจากโลกออฟไลน์เข้าสู่โลกออนไลน์กันหมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะหากพิจารณาจากสถิติ มันมีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้
- ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2566) มีการสำรวจทั่วโลก คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์เฉลี่ยนานกว่า 400 นาที ต่อวัน
- ตลาด Ecommerce มียอดรวมสูงเกิน 1,000,000,000,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2566)
- มีการคาดการณ์ว่าร้านค้าปลีกจะเข้าสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอีก 24% ภายในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569)
ดังนั้น หากต้องการให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ การทำ Digital Marketing เป็นสิ่งที่ยังไงคุณก็ควรทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นเรื่องสนุกที่น่าตื่นเต้นด้วยซ้ำ มันนำเสนอประโยชน์มากมายเหนือกว่าการตลาดในยุคเก่าหลายเท่า
เข้าถึงเป้าหมายได้แม่นยำกว่า
ช่องทางการตลาดยุคเก่า เช่น การโฆษณาทางวิทยุ หรือโทรทัศน์ เป็นการตลาดแบบหว่านแห ทุกคนจะรับรู้โฆษณาที่คุณส่งออกไปเหมือนกันทุกคน เป็นการยากที่คุณจะออกแบบเนื้อหาภายในโฆษณาให้เหมาะสมกับกลุ่มคนดูที่แตกต่างกัน
แต่สำหรับ Digital Marketing คุณสามารถควบคุมได้ว่าจะส่งโฆษณาไปหาลูกค้ากลุ่มไหน ? และเป็นโฆษณารูปแบบใด ? ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า
สามารถวัดผลได้ง่าย
หากคุณลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์, วิทยุ หรือโทรทัศน์ เป็นเรื่องค่อนข้างยากหากเราต้องการติดตามว่ามีใครที่เห็นโฆษณาของเราบ้าง ? แล้วหากยอดขายเพิ่มขึ้น มันมีสาเหตุมาจากโฆษณาหรือว่าเหตุผลอื่น
แต่ถ้าเป็น Digital Marketing เราสามารถวัดค่าได้อย่างละเอียดแบบเรียลไทม์ ว่ามีจำนวนผู้ที่เห็นโฆษณาของเราทั้งหมดกี่คน ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถรู้ได้ด้วยว่าพวกเขาทำอะไรต่อหลังจากเห็นโฆษณา ไปจนถึงตอนที่พวกเขาสั่งซื้อสินค้าเลย
มีความคล่องตัวสูง
การตลาดแบบเก่า ดำเนินการช้า และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน มักต้องวางแผนเตรียมงานล่วงหน้ากันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้หากต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรหลังจากที่ปล่อยโฆษณาออกไปแล้วจึงทำได้ยาก แต่หากเป็น Digital Marketing จะมีความคล่องตัวกว่ามาก การปรับเปลี่ยนข้อมูลทำได้ง่าย และรวดเร็ว
ราคาประหยัด
ค่ายิงโฆษณาในโลกดิจิทัลมีทางเลือกค่อนข้างกว้าง และมีราคาส่วนใหญ่ต่ำ อย่างการยิงโฆษณาบน Facebook จะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการยิงโฆษณาออนแอร์ทางโทรทัศน์หลายเท่า การโฆษณาทางโทรทัศน์มักมีค่าแอร์ไทม์ตั้งแต่หลักแสนไปถึงหลักล้าน ในขณะที่การยิงโฆษณาบน Facebook จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเพียงไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น
การตลาดดิจิทัล มีกี่ประเภท ? (How many types of Digital Marketing ?)
อย่างที่เราบอกไปตั้งแต่แรกว่าขอบเขตของ Digital Marketing นั้นกว้างมาก การทำจึงมีหลายประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมก็จะมีดังต่อไปนี้
Search engine optimization (SEO)
สำหรับ Search Engine Optimization (SEO) หมายถึงการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้ได้อันดับผลการค้นหาที่ดีในหน้าผลลัพธ์การค้นหา (Search Engine Results Pages (SERPs) ของเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลอย่างเช่น Google, Bing, Yahoo ฯลฯ
เป้าหมายในการ ทำ SEO ก็เพื่อให้หน้าเว็บไซต์ของคุณได้รับคะแนนประเมินจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลสูงขึ้น ทำให้เวลาที่แสดงผลลัพธ์การค้นหา หน้าเว็บไซต์ของคุณจะอยู่ในหน้าแรกเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งช่วยให้มีโอกาสถูกคลิกเข้าชมมากขึ้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าผลลัพธ์การค้นหาในหน้าที่สองนั้นแทบไม่ต่างอะไรจากหลุมศพเลย
เทคนิคที่ใช้ทำ SEO ก็มีอยู่หลายอย่าง แต่หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน ประกอบไปด้วย
- Technical Optimizations : มีหลายเทคนิคที่สามารถทำได้ เช่น การปรับโครงสร้างของตัวเว็บไซต์ให้ตัวเครื่องมือค้นหา หรือเสิร์ชเอนจิน (Search Engines) สามารถทำดัชนีเนื้อหาได้ง่าย, ปรับปรุงให้หน้าเว็บไซต์แสดงผลข้อมูลได้เร็วขึ้น, แก้ไขลิงก์เสีย, ปรับปรุงการแสดงผลให้เป็นมิตรกับการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ฯลฯ
- On-page Optimizations : เกี่ยวกับการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ในแต่ละหน้าให้มีความน่าเชื่อถือ หรือมีหัวข้อที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างการปรับแต่งข้อมูลหัวข้อ หรือ Metadata ของเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์ ให้ตรงกับคำค้นหาที่ผู้คนนิยมใช้ในการค้นข้อมูล
- Off-page Optimizations : การสร้างลิงก์ภายนอก (External Link) เข้ามายังเว็บไซต์ช่วยเพิ่มเครดิตความน่าเชื่อถือให้กับเสิร์ชเอนจินได้ ในการสร้างลิงก์จากเว็บไซต์อื่น ๆ (Backlink) กลับเข้ามาที่เว็บไซต์เรา โดยเราสามารถใช้วิธีสร้างเนื้อหาคุณภาพสูงขึ้นมาเพื่อให้เว็บไซต์อื่น ๆ ยินดีที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ, โพสต์โซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิด Engagement ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.wordstream.com/blog/ws/2022/04/06/on-page-seo
แต่อย่างไรก็ตาม การทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จได้ก็เป็นเรื่องแอบลึกลับ เพราะผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) จะเก็บความลับในการจัดอันดับเอาไว้ และมักมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดคะแนนอยู่บ่อยครั้ง อะไรที่เคยทำแล้วได้ผลลัพธ์ดี ผ่านไปสักพักมันอาจจะไม่ดีแล้วก็ได้ มันเลยเป็นงานที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อหาวิธีเอาชนะกลไกการคิดคะแนนให้เจอ
ทั้งนี้ ไม่ว่ากฏการคิดคะแนนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ? สุดท้ายแล้วเป้าหมายของผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินก็ยังคงเหมือนเดิม คือเสนอคำตอบที่ทำให้ผู้ใช้งานพึงพอใจมากที่สุด ดังนั้น การทำ SEO จึงควรมองว่าเว็บไซต์ควรมีเนื้อหาแบบใด ผู้ชมจึงจะรู้สึกพอใจมากที่สุดเป็นอย่างแรก
Content Marketing
เป้าหมายในการ ทำการตลาดผ่านคอนเมนต์ (Content Marketing) คือการดึงดูด และโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความสนใจ อยากมีส่วนร่วมกับธุรกิจของคุณอย่างต่อเนื่อง เทคนิคที่นิยมทำกันก็จะเป็นนำเสนอมูลค่า, ความรู้ หรือความบันเทิงให้กับผู้ชม ซึ่งหากทำมันได้ดี เราจะได้รับความเชื่อใจ และลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์กลับมาได้ไม่ยาก
Content Marketing มีอยู่หลายชนิด ที่ได้รับความนิยม ก็อย่างเช่น
- Blogs : เป็นพื้นที่สำหรับให้แบรนด์สามารถใช้แสดงความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่แบรนด์ประกอบการอยู่ ให้ผู้ชมได้เข้ามาเก็บเกี่ยวหาความรู้ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชมส่งกลับไปให้เว็บไซต์ของแบรนด์ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย รวมไปถึงช่วยเพิ่มคะแนนให้กับเสิร์ชเอนจินอีกด้วย
- Podcast : สำหรับช่องทาง พอดแคสต์ (Podcast) ช่องทางนี้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก สำหรับธุรกิจที่ต้องการแสดงความเป็นผู้นำ โดยเมื่อเราเป็นโฮสต์จัดรายการ และเชิญแขกรับเชิญที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเดียวกันมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้ฟังก็จะได้รับประโยชน์จากการเข้ามาฟัง และรู้จักแบรนด์ของคุณมากขึ้น
- Infographic : มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การทำอินโฟกราฟิกได้รับความนิยมมาก แต่ในช่วงนี้กระแสของมันจะแผ่วลงไปแล้ว แต่มันก็ยังคงเป็นคอนเทนต์ที่มีเสน่ห์ และเป็นวิธีการที่ดีในการนำเสนอข้อมูลที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ข้อดีอีกอย่างของอินโฟกราฟิกคือ มันเป็นเนื้อหาที่ผู้ชมนิยมนำไปแบ่งปันต่อบน Social Network อีกด้วย
- Social Media Post : การโพสต์เนื้อหาคุณภาพสูงลงในโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการสร้าง Engagement และความสัมพันธ์ ระหว่างแบรนด์กับผู้ชม เราสามารถแบ่งปันข่าวสาร, โปรโมชัน และอัปเดตความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจให้กับผู้ติดตาม รวมถึงใช้เป็นช่องทางในดึงผู้ชมจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้เข้าไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์ได้อีกด้วย
สรุปง่าย ๆ ว่าคอนเทนต์เป็นอะไรก็ได้ที่คุณอ่าน, ชม หรือฟัง ที่ถูกพัฒนาจนเป็น Content Marketing มันก็เป็นเนื้อหาที่โน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอยากเป็นลูกค้าหลังจากที่รับชมเนื้อหาที่คุณสื่อสารออกไป
Pay-per-click (PPC) marketing
สำหรับการทำการตลาดด้วยวิธี Pay-per-Click (PPC) marketing มันเป็นการทำ Search Engine Marketing (SEM) ชนิดหนึ่ง โดยที่ทางแบรนด์จะจ่ายเงินให้กับทาง Search Engine เพื่อโฆษณาเว็บไซต์บนหน้าแสดงผลการค้นหา (Search Engine Result Page - SERP) โดยกำหนดเกณฑ์การจ่ายเงินเอาไว้เมื่อมีผู้ใช้งานคนอื่น ๆ พบเห็นและทำการ "คลิก" เข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์จากลิงก์โฆษณาบนเครื่องมือค้นหา (Search Engine) เท่านั้น หากไม่มีการคลิกเข้าไปก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับทาง Search Engine แต่อย่างใด
ภาพจาก https://growhackscale.com/glossary/pay-per-click-ppc
เมื่อเราสร้างแคมเปญ Pay-per-click (PPC) เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียด เช่น
- Keywords : ในการซื้อโฆษณา PPC เราจะต้องเลือก Keyword ที่จะใช้ในการแสดงโฆษณาของคุณให้กับผู้ชม เราควรเลือก Keyword ที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่คุณมี และคิดว่าลูกค้าของคุณจะเลือกใช้คำดังกล่าวในการค้นหา
- Location : หากคุณประกอบการธุรกิจท้องถิ่น หรือมีผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล คุณสามารถเลือกที่จะยิงโฆษณาไปยังประเทศ, เมือง หรือตำแหน่งไปรษณีย์ที่ต้องการได้
- Demographics : แพลตฟอร์มโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต มีฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้แต่ละคนเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ช่วยให้เวลาที่เราซื้อโฆษณา PPC ก็สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าของเราได้ เช่น เพศ, อายุ, รายได้ ฯลฯ
- Retargeting : ตัวเลือกนี้เป็นการแสดงโฆษณา PPC ไปยังลูกค้าที่เคยเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณมาก่อนแล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขได้หลากรูปแบบ เช่น ผู้ที่เพิ่มสินค้าลงในตะกร้าสินค้าแล้ว แต่ยังไม่ได้คลิกชำระเงิน หรือผู้ที่เคยเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ที่กำหนดมาก่อน
Social Media Marketing (SMM)
เป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของคุณลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งก็รวมไปถึงการทำ PPC ที่เราอธิบายไปในหัวข้อที่แล้วด้วย ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์มก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งเราควรเลือกใช้งานให้เหมาะสม เช่น หากแบรนด์ของเราทำธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ LinkedIn ก็เป็นแพลตฟอร์มที่น่าจะมีผู้ที่เป็นลูกค้าของคุณอยู่มากกว่า TikTok
แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ก็อย่างเช่น
|
|
Native Advertising
เป็นการสร้างโฆษณาแล้วนำไปแสดงผลบนแพลตฟอร์มที่ต้องการอย่างแนบเนียน แตกต่างจากโฆษณาแบบทั่วไป ที่เห็นแล้วรู้ในทันทีว่านี่คือโฆษณา
Native Advertising มีหลายรูปแบบ เช่น เนื้อหาที่มีสปอนเซอร์สนับสนุน, การวางสินค้าให้ปรากฏในคอนเทนต์, โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย โดยเป้าหมายหลักของโฆษณารูปแบบนี้คือพยายามหลอกไม่ให้ผู้ชมรู้สึกว่ากำลังชมโฆษณาอยู่
วิธีการนี้ได้ผลค่อนข้างดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สึกต่อต้านโฆษณามากกว่าคนรุ่นเก่า และผู้ที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์ Ad-Blocking
การทำ Native advertising สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป อย่างในภาพยนตร์เรามักจะเห็นรถแค่ยี่ห้อเดียว, ขวดน้ำดื่มที่วางอยู่บนโต๊ะพิธีกร ฯลฯ
Influencer marketing (หรือ Affiliate Marketing)
เป็นการทำตลาดด้วยการร่วมมือกับผู้ที่มีชื่อเสียง หรืออิทธิพล โดยให้พวกเขาช่วยพูดถึงแบรนด์ของคุณ เช่น แนะนำผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้กับฐานแฟนคลับของพวกเขา ซึ่งอาจมีจำนวนเยอะกว่าฐานลูกค้าที่คุณมีอยู่เดิม แน่นอนว่ามักจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันด้วย ส่วนใหญ่ทางแบรนด์ก็จะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับทางอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เพื่อให้เขาช่วยโฆษณาให้ ฝั่งหนึ่งได้รายได้ อีกฝ่ายได้ลูกค้า ก็ Win-win กันไป
อาจฟังดูแปลก แต่ตลาดอินฟลูเอนเซอร์นั้นมีมูลค่าสูงมาก จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) พบว่ารายได้ในตลาดอินฟลูเอนเซอร์นั้นมีมูลค่าสูงถึง 584,332,000,000 บาท เลยทีเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
ยิ่งในยุคนี้ที่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นได้รับความนิยมจากทั่วโลก มีอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย คนธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียงก็สามารถแจ้งเกิดมีผู้ติดตามหลักล้านได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก
ทั้งนี้ แบรนด์ไม่จำเป็นต้องจ้างอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามหลักล้านเสมอไป ในหลาย ๆ เคส การจ้างไมโครอินฟลูเอนเซอร์ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นกัน
Email marketing
การทำ Email marketing เป็นการสื่อสารกับกลุ่มคนที่เคยมีการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์กันมาก่อน จนได้รับข้อมูลอีเมลมาแล้ว เราสามารถใช้ช่องทางนี้ในการแนะนำให้ผู้ชมรับรู้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ, บริการ, โปรโมชัน, อีเวนท์ หรือความรู้ต่าง ๆ ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำผู้ชมให้เข้าสู่ Customer Journey ที่ดีเลย
ทั้งนี้ก่อนจะส่งอีเมลออกไป ควรแบ่งกลุ่มผู้ชมให้ชัดเจนด้วย ตัวอย่างเช่น ลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยซื้อกับเราเลย, ลูกค้าที่เคยซื้อแล้ว, ลูกค้าที่เพิ่มของไว้ในตะกร้าแล้ว แต่ยังไม่ชำระเงิน เป็นต้น จากนั้นก็ร่างอีเมลที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
แนวทางในการวางแผน การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Planning Concepts)
กุญแจสู่ความสำเร็จในการทำ Digital Marketing คือ ต้องเข้าใจว่าลูกค้ามีการปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจของเราผ่านระบบออนไลน์อย่างไร ? เมื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกค้าแล้ว ก็จะช่วยให้การวางแผนทำ Digital Marketing ง่าย และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
เรามีเทคนิคที่ช่วยในการวางแผน Digital Marketing มาแนะนำ ดังนี้
ทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
สิ่งแรกเลย เราต้องรู้จักสิ่งที่เรามีอยู่ให้ถ่องแท้ก่อน ว่าสินค้า หรือบริการของเราคืออะไร ? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง ? เพราะถ้าเราที่เป็นคนขายยังไม่รู้ เราจะไปอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจความดีงามของสินค้าที่ขายได้อย่างไร ?
โดยสิ่งที่เราควรรู้ก็จะประกอบไปด้วย
- คุณค่าของแบรนด์ : หาคำตอบให้ได้ว่าคุณค่าที่แบรนด์มีคืออะไร ? สินค้า หรือบริการแสดงคุณค่านั้นให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างไร ? เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าแบรนด์ของเราแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร ? ทำไมถึงน่าสนใจ ?
- คุณสมบัติ และประโยชน์ : คุณสมบัติคือรายละเอียดว่าสินค้า หรือบริการของคุณนั้น ทำอะไรได้บ้าง ? และมันจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ลูกค้ามีได้อย่างไร ? ในการทำธุรกิจเราควรให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่นำเสนอได้ให้มากที่สุด เพราะมันเป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากที่สุด
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพื้นฐาน แต่ผลประโยชน์ถือเป็นหัวใจหลักของการทำ Digital Marketing ลองคิดดูสิว่าหากโฆษณาที่คุณปล่อยออกไป ผู้ชมดูแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย ? พวกเขาจะเสียเวลาดูไปทำไม ? แล้วเราจะเสียเงินค่าโฆษณาไปเพื่ออะไร ?