Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
การวางกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การดูแลลูกค้าของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, เพิ่มผลกำไรของบริษัท และเพิ่มอัตราการคืนทุน (Return on Investment - ROI) ที่คุณทุ่มเทลงไปได้
กลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คุณต้องการเพิ่ม ROI ให้สูงขึ้น ด้วยการอาศัยประโยชน์จากวิดีโอสั้น, อินฟูลเอนเซอร์ (Influencer) และโซเชียลมีเดียของแบรนด์ ซึ่งหากต้องการผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังไว้ จำเป็นต้องนำแนวโน้มเทรนด์ และกลยุทธ์การตลาดมาใช่ร่วมในแผนการของคุณด้วย
บทความนี้ เรามาเจาะลึกองค์ประกอบสำคัญของการวางกลยุทธ์การตลาดให้ออกมาดี เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยให้คุณคิดแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น
กลยุทธ์การตลาด คืออะไร ? (What is Marketing Strategy ?)
Marketing Strategy เป็นภาพรวมของแผนการประชาสัมพันธ์แบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การวิจัย, เป้าหมายของแบรนด์, ช่องทางในการทำตลาด, วิธีชี้วัดความสำเร็จ และกำหนดตำแหน่งของแบรนด์
โดยหน้าที่หลักของ Marketing Strategy จะประกอบไปด้วย
- เชื่อมเป้าหมายของทีม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
- ช่วยปรับให้ความพยายามของคุณ เข้ากับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
- ช่วยให้คุณสามารถระบุ และทดสอบได้ว่า อะไรที่ทำแล้วโดนใจกลุ่มลูกค้าที่คุณวางเป้าหมายเอาไว้
- เพิ่มขีดความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์จากเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
หัวข้อสุดท้ายมีความสำคัญมาก เพราะการตามเทรนด์ให้ทันมีความสำคัญมากต่อการวางกลยุทธ์การตลาดในปัจจุบันนี้ จากการสำรวจพบว่า นักการตลาดกว่า 80% กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีล่าสุด มันมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเสียอีก ซึ่งอาจเพราะผลกระทบจากอินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ทำให้โลกการตลาดหมุนเร็วขึ้นกว่าในอดีตมาก
กลยุทธ์การตลาด แตกต่างจาก แผนการตลาด อย่างไร ? (What is the difference between Marketing Strategy and Marketing Plan ?)
อย่าสับสนระหว่าง Marketing Strategy กับ Marketing Plan เพราะมันมีความแตกต่างกัน
Marketing Strategy | Marketing Plan |
แผนระยะยาว | แผนระยะสั้น |
เป็นภารกิจที่บริษัทต้องการทำให้สำเร็จ | เป็นแผนการระดับแคมเปญ |
มีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของบริษัท | แผนสนับสนุน Marketing Strategy |
Marketing Strategy เป็นแผนสรุปเป้าหมายในระยะยาว และแนวทางโดยรวม ในขณะที่ Marketing Plan จะเป็นเรื่ององวิธีการ และแผนที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า Marketing Strategy คือแนวทางการทำตลาดของบริษัท ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย, วิจัยตลาด, วิจัยคู่แข่ง, กำหนดภาพลักษณ์ และตำแหน่งของแบรนด์ว่าอยากให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เป็นอย่างไร
ตัวอย่างเช่น หากคุณสร้างแผน Marketing Strategy สำหรับแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่ ในการวางกลยุทธ์การตลาดของคุณอาจตั้งเป้าไปที่วัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มทำงาน ภาพลักษณ์ของแบรนด์คือเสื้อผ้าที่ดูมีความทันสมัย แต่ราคาไม่แพง
ส่วน Marketing Plan สำหรับใช้ใน Marketing Strategy ของแบรนด์แฟชั่นดังกล่าว จะเป็นแผนระยะสั้นที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตามสถานการณ์ เช่น การยิงโฆษณาไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย, การหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับแบรนด์มาช่วยประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
องค์ประกอบของ กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy Components)
ตอนนีั้เราเข้าใจแล้วว่า Marketing Strategy คืออะไร ? และมีความสำคัญอย่างไร อย่างไรก็ตาม การวางแผน Marketing Strategy ให้ออกมาดีไม่ใช่เรื่องง่าย มาลองอ่านเคล็ดลับที่เรานำมาฝาก หวังว่ามันจะช่วยให้คุณสามารถวางแผน Marketing Strategy ที่มีความแข็งแกร่งออกมาได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นมาเข้าใจองค์ประกอบที่สำคัญของ Marketing Strategy กันก่อน โดยมันประกอบไปด้วย
Marketing Mix
ภาพจาก : https://courses.lumenlearning.com/clinton-marketing/chapter/outcome-marketing-mix/
Marketing Mix หรือที่อาจรู้จักกันในอีกชื่อว่า 4P เป็นเอกสารที่คุณควรสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทำความเข้าใจว่าอะไรที่คุณต้องการทำตลาด ?, จะทำตลาดที่ไหน ? และจะทำการตลาดอย่างไร ? โดย 4P จะประกอบไปด้วย
- Product : เราขายอะไร ?
- Price : จะขายราคาเท่าไหร่ ?
- Place : จะนำสินค้าไปวางขายที่ไหน ?
- Promotion : จะประชาสัมพันธ์สินค้าที่ไหน ?
หากบริษัทมีสินค้า หรือบริการหลายตัว ก็สามารถทำ Marketing Mix ให้กับทุกช่องทางการขายที่ต้องการได้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจภาพรวมของ Marketing Strategy ได้ชัดเจนมากขึ้น
Product
| Price
|
Place
| Promotion
|
Marketing Objectives
เราสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objectives) ร่วมกับ Marketing Mix ได้ โดยควรเริ่มจากการกำหนดภาพรวมเป้าหมายทางการตลาดที่ต้องการขึ้นมาก่อน แล้วค่อยวางแผน Marketing Strategy เหตุผลก็เพราะเป้าหมายจะช่วยกำหนดทิศทางต่าง ๆ ของแผน รวมไปถึงงบประมาณ และกระบวนการคิดด้วย
ตัววัตถุประสงค์เองก็ควรมีความเจาะจงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจจะลองกำหนดวัตถุประสงค์ด้วยการแบ่งช่องทางการขาย หรือวิธีประชาสัมพันธ์ก่อน
นอกจากนี้ อย่ากลัวที่จะแก้ไขเป้าหมายใหม่ เพราะแผนการควรถูกปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าหากเป้าหมายสำคัญที่คุณต้องการเกิดความเปลี่ยนแปลง
Marketing Budget
ภาพจาก : https://marketing.com.au/7-free-marketing-budget-templates/
เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก คิดแผนไว้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีงบประมาณจ้างคนเก่งมาทำงาน, ซื้อซอฟต์แวร์ที่จำเป็น, ยิงโฆษณาในช่องทางที่เหมาะสม ฯลฯ แผน Marketing Strategy ก็ยากที่จะได้ผลลัพธ์อย่างที่มันควรจะเป็น หากต้องการผลตอบแทนที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องลงทุน
ทั้งนี้ ไม่ได้เราไม่ได้หมายความว่า เราต้องมีเงินก้อนโตมาลงทุน เราสามารถเริ่มจากนำเงินทุนก้อนเล็กไปใช้กับแผนการที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนก่อน เมื่อเกิด ROI ก็พยายามนำผลกำไรที่ได้มาลงทุนเพิ่มต่อในภายหลัง
Competitive Analysis
ซุนวู (孙武) ปราชญ์ชาวจีนเคยกล่าวเอาไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนวูว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ไม่แพ้" มันเป็นสัจธรรมที่ยังใช้ได้เสมอ
การรู้จักคู่แข่งเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผน Marketing Strategy เพราะหากไม่มีการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง คุณจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คุณทำแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ? ทำได้ดี หรือแย่กว่า ไม่ต่างอะไรจากการปิดตาเดินแล้วคิดไปเองว่าเดินถูกทางแล้ว
ส่วนใหญ่เราจะรู้อยู่แล้วแหละ ว่าธุรกิจของเรามีใครเป็นคู่แข่งบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้แค่ชื่อของคู่แข่งรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง มันมักจะมีคู่แข่งรายย่อยที่ทำธุรกิจเหมือนเราด้วย เราควรวิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อน ของคู่แข่งที่เรามีไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือรายย่อย เพื่อนำมาพัฒนาเป็นจุดขายที่เราสามารถใช้ดึงดูดลูกค้าได้
Segmentation, Targeting และ Positioning (STP)
ภาพจาก : https://www.kelvinindia.in/blog/what-is-stp-segmentation-targeting-positioning-how-to-use-stp-model/
การแบ่งส่วน (Segmentation), กำหนดเป้าหมาย (Targeting) และการวางตำแหน่ง (Positioning) หรือเรียกโดยย่อว่า STP หมายถึงกระบวนการที่จะส่งสารที่มีความเกี่ยวข้อง และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือแทนที่เราจะหว่านแหส่งข้อความเดียวกันไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม เราควรคิดข้อความที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายที่แตกต่างกัน
พิจารณาว่าแบรนด์ของเราอยู่ในตำแหน่งไหน เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ? อะไรที่คิดว่าเราทำได้ดีกว่า ? แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ร่วมกับการวางแผน Marketing Strategy
Content Creation
เมื่อเรากำหนดงบประมาณ, วิเคราะห์คู่แข่ง และมีข้อมูล STP แล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะมาคิดเนื้อหาสำหรับใช้ในการตลาดแล้ว ซึ่งมี 2 สิ่งที่ควรระลึกไว้ อย่างแรกคือ ไม่ควรเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่มีประโยชน์ หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า และอีกอย่างคือ ฉวยโอกาสจากกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสที่แบรนด์ของคุณจะถูกมองเห็นมากขึ้น
สำหรับประเภทของเนื้อหา จากการวิจัยของ HubSpot Research พบว่า "นักการตลาดกว่า 50% ใช้วิดีโอ, 47% ใช้รูปภาพ, บทความ 33%, อินโฟกราฟิก 30% และ Podcasts/สื่อเสียง 28%" โดยวิดีโอเป็นสื่อที่มีอัตรา ROI สูงมากที่สุด
ภาพจาก : https://blog.hubspot.com/marketing/hubspot-blog-marketing-industry-trends-report
Metrics & Key Performance Indicators (KPIs)
สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เมื่อได้แผน Marketing Strategy มาแล้ว ก็ควรคิดด้วยว่าจะวัดผลความสำเร็จอย่างไร ? ด้วยการนำ Metrics หรือ Key Performance Indicators (KPIs) มาใช้ชี้วัด ส่วนจะกำหนด KPIs อย่างไร ? มีหัวข้ออะไรบ้าง ? ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ และช่องทางการขาย
KPIs พื้นฐานที่นิยมใช้ชี้วัดก็อย่างเช่น
- Customer Acquisition Cost (CAC) : ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อที่ให้ได้ลูกค้าใหม่ เช่น ค่าโฆษณา, ค่าออกอีเวนต์, กิจกรรมชิงโชค ฯลฯ
- Organic Traffic : จำนวนผู้เข้าชม หรือลูกค้าที่มาเข้าใช้บริการเองโดยตรง ไม่ได้มาจากการโฆษณา หรือจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไป
- Conversion Rate : อัตราส่วนระหว่างผู้เข้าชม กับผู้ที่ซื้อสินค้า หรืออาจยังไม่ซื้อ แต่มีการลงทะเบียนสอบถามข้อมูล, ขอใบเสนอราคา ฯลฯ
- Marketing Qualified Leads (MQLs) : กลุ่มลูกค้าที่นักการตลาดวิเคราะห์แล้วว่า มีโอกาสซื้อสูง สามารถส่งลูกค้าต่อให้กับทีมฝ่ายขายให้ดำเนินการขั้นตอนถัดไปได้
ทั้งนี้ KPIs ที่ดี จะต้องสามารถวัดค่าได้อย่างชัดเจน และหัวข้อที่นำมาตั้ง KPIs ก็ต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทด้วย
8 ขั้นตอนการวาง กลยุทธ์การตลาด (8 Steps of making Marketing Strategy)
1. วิจัยตลาด (Conduct Market Research)
ก่อนที่เราจะเริ่มสร้างแผน Marketing Strategy เราควรเริ่มที่การรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้เรียบร้อยก่อน เพื่อนำมันมาช่วยตัดสินใจสิ่งที่เราจะใส่ในแผนการทำวิจัยด้านการตลาด (Market Research) อันที่จริง การวิจัยตลาดก็ไม่ต่างจากการเล่นเป็นนักสืบ เพียงแค่เราไม่ได้สืบคดี แต่เป็นการสืบหารายละเอียดของลูกค้าแทน
การวิจัยตลาดทำให้คุณสามารถธุรกิจตัดสินใจแผนธุรกิจโดยอาศัยข้อมูล ซึ่งมันเป็นเรื่องดีกว่าการคาดเดาโดยที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิง นอกจากนี้ มันยังช่วยให้คุณเข้าใจตลาดที่คุณตั้งไว้เป้าหมายง่ายขึ้น หาช่องว่างในตลาด และใช้ทรัพยากรที่คุณมีได้อย่างคุ้มค่า
และเมื่อคุณได้ข้อมูลวิจัยตลาดมาแล้ว คุณก็จะพร้อมสำหรับการกำหนดเป้าหมายทางการตลาด
2. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ (Define your Goals)
หาคำตอบให้เจอก่อน ว่าคุณต้องการอะไรจากความพยายามในการทำตลาด เพราะมีเป้าหมายได้หลายอย่าง อยากให้แบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก, ต้องการเพิ่มยอดขาย, ต้องการขยายฐานลูกค้า ฯลฯ เป้าหมายที่ชัดเจนจะนำทางไปสู่การวางแผน Marketing Strategy ให้ออกมาในทิศทางเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการแย่งส่วนแบ่งในตลาดให้ได้ 20% ภายในหนึ่งปี เป้าหมายที่นำมาใช้ได้ก็อย่างการเจาะตลาดแห่งใหม่, อัปเดตแบรนด์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนพนักงานขาย
3. ค้นหาว่าลูกค้าของเราคือใคร และมีบุคลิกเป็นอย่างไร ?
(Identify your target audience and create buyer personas)
ในการคิดแผน Marketing Strategy ให้มีประสิทธิภาพดีได้นั้น เราต้องเข้าใจลูกค้าเสียก่อน ซึ่งข้อมูลนี้เราสามารถหาได้จากการทำวิจัยตลาด จากนั้นเราก็จะมองเห็นภาพรวมของตลาดง่ายขึ้น และรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ?
แต่แค่รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร ? มันก็ยังไม่พอ เราต้องหาข้อมูลต่อไปว่าพวกเขาต้องการอะไร ? ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาชอบ หรือปัญหาที่พวกเขามี แต่เราต้องรู้ด้วยว่าสินค้า หรือบริการที่คุณมี จะช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างไร ?
เมื่อเราเข้าใจว่าลูกค้าเราเป็นใคร ? เราก็สามารถสร้างบุคลิกลูกค้าที่เป็นอุดมคติของธุรกิจเราขึ้นมาได้ละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอายุ, อาชีพ, รายได้, ที่อยู่, ความสนใจ ฯลฯ
4. วิเคราะห์คู่แข่ง (Conduct Competitive Analysis)
หลังจากที่เข้าใจแล้วว่าลูกค้าของเราคือใคร ? ก็ถึงเวลาศึกษาคู่แข่งของเรา
โดยเริ่มจากค้นหาก่อนว่าใครคือคู่แข่งเบอร์หนึ่งของเรา ด้วยการสำรวจหน้าเว็บไซต์, เนื้อหา, โฆษณา และราคาของคู่แข่ง มันช่วยให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างเรากับคู่แข่งมากขึ้น และยังมีประโยชน์ต่อการมองหาช่องว่างที่เราสามารถใช้ประโยชน์กับธุรกิจของเราได้
5. พัฒนาคีย์เมสเสจ (Develop Key Messaging)
เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เราน่าจะรู้จักลูกค้าของเราเป็นอย่างดีแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะแสดงเอกลักษณ์ธุรกิจให้ลูกค้าของเราได้รับรู้บ้างแล้ว
โดยเราต้องคิดคีย์เมสเสจที่สามารถอธิบายผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้า หรือบริการของคุณ ซึ่งคีย์เมสเสจนี้จะสามารถส่งอิทธิพลให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ขนาดไหน ? ก็ขึ้นอยู่ผลการวิจัยทั้งหมดที่เราได้ทำมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้
คีย์เมสเสจที่ดี จะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของคุณแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ?
- โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- มีความยืดหยุ่น สามารถนำใช้งานได้กับทุกช่องทางการตลาด
- สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้
- สร้างความรู้สึกที่ลูกค้ามีอารมณ์ร่วมได้
- กระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้
6. เลือกช่องทางการตลาดของคุณ (Choose your Marketing Channels)
เมื่อได้คีย์เมสเสจมาแล้ว ขั้นตอนถัดไป เราจะมาค้นหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมที่สุด เป้าหมายแรกในขั้นตอนนี้คือการคัดเลือกช่องทางการตลาดที่เข้าคู่กับพฤติกรรมในการบริโภคสื่อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีที่สุด
โดยอาจเริ่มจากช่องทางการตลาดที่คุณใช้งานอยู่แล้ว จากนั้นก็พิจารณาช่องทางอื่นเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นช่องทางดั้งเดิมอย่างสื่อโทรทัศน์, สิ่งพิมพ์ ฯลฯ หรือช่องทางดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย, Podcast ฯลฯ
เราอาจแบ่งช่องทางการตลาดได้ออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ เสียเงิน (Paid), เป็นเจ้าของ (owned) และสื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned)
เสียเงิน (Paid)
หมายถึงช่องทางใดก็ตาม ที่คุณต้องเสียเงินเพื่อดึงดูดให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกิดความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นสื่อโฆษณานั่นเอง เช่น
- โฆษณาทางโทรทัศน์
- จดหมายตรง เช่น จดหมายแจ้งข่าว, โบรชัวร์, ไปรษณียบัตร ฯลฯ
- ป้ายบิลบอร์ด
- โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย
- การตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา (Search Engine Marketing - SEM)
- โฆษณาบน พอดแคสต์ (Podcast Advertising)
สื่อที่เป็นเจ้าของ (Owned Media)
หมายถึงสื่อที่เราครอบครองเป็นเจ้าของเอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็น
- บล็อก (Blog)
- เว็บไซต์
- โซเชียลมีเดียของแบรนด์
นอกจากนี้ ยังรวมถึงสื่อที่ฝ่ายการตลาดเป็นผู้คิดขึ้นมาด้วย อย่างเช่น
- วิดีโอ
- อินโฟกราฟิก
- พอดแคสต์
สื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned)
สื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned) อาจจะดูเข้าใจยากว่ามันคืออะไร ? อีกนัยหนึ่งคือมันคือเนื้อหาของแบรนด์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมาให้เราฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น
- โพสต์ที่ถูกแชร์ออกไปบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
- โพสต์ที่กล่าวถึงธุรกิจของคุณบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
- โพสต์ที่มีการ "Mention" มาที่บัญชีของแบรนด์
การตัดสินใจเลือกช่องทางการตลาดของคุณควรเลือกด้วยความระมัดระวัง สำรวจทุกช่องทางที่มี และพิจารณาให้ดีว่าช่องทางไหนที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่คุณกำลังมองหาอยู่ได้ดีที่สุด อย่าลืมคำนึงถึงงบประมาณด้วยว่าเพียงพอกับช่องทางที่เลือกหรือไม่ ? เพราะราคาของแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างลดหลั่นกันไป ซึ่งการจ่ายแพงกว่า ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของเราได้มากขึ้นเสมอไป
ตัวอย่างเช่น หากต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ก็ควรเล็งช่องทางไปที่ TikTok หรือ Reddit เป็นต้น
หรือหากคุณมี Blog (Owned Media) ที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อคนทั่วไป เผยแพร่เป็นประจำอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ก็ควรจะที่จะนำมาแชร์ลงในช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่นบน สตอรี่ (Stories) ซึ่งมันช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าของคุณจะทำการแชร์มันอีกครั้ง (Earned)
7. สร้าง, ติดตาม และวิเคราะห์ KPIs
เราจะไม่รู้เลยว่าแผนการตลาดที่เราคิดขึ้นมาได้ผลลัพธ์ดีขนาดไหน หากเราไม่มีเครื่องมือในการชี้วัด
ในขั้นตอนนี้เราจะแปลงร่างจากนักสืบมาเป็นคนบ้าตัวเลขแทน กำหนด KPIs ขึ้นมา แล้วติดตามวัดผลว่าทำตัวเลขได้เข้าเป้าตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ ?
โดยหลังจากที่กำหนดแผน Marketing Strategy เสร็จแล้ว ก็มาเลือก KPIs ที่มีความเหมาะสมกับแผนการของเรา จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้มาขัดเกลา หรือปรับปรุง Marketing Plan อีกครั้ง เพื่อให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น
8. นำเสนอกลยุทธ์ทางการตลาดของคุณ
ขั้นตอนสุดท้ายของการทำ Marketing Strategy คือการสรุปรวมส่วนประกอบทั้งหมดที่ผ่านเป็นครั้งสุดท้าย โดยไล่มาตั้งแต่ภาพรวมของแผนกลยุทธ์, กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย, อะไรที่เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์, ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ฯลฯ
นำ Marketing Plan มาวิเคราะห์ว่ามันสอดคล้อง และช่วยให้ Marketing Strategy ประสบความสำเร็จได้มากขนาดไหน มันครอบคลุมแคมเปญ และช่องทางการตลาดครบถ้วนหรือไม่ ?
หลังจากนั้นก็คำนวณงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท พิจารณาดูว่าต้องจัดสรรการใช้เงินอย่างไรถึงได้ประสิทธิภาพดีที่สุด
เรื่องสุดท้ายคือการขีดเส้นไทม์ไลน์ และหมุดหมายในการทำงานด้วย ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ? และหากทำได้ไม่ทันตามกำหนด จะแก้ไขปัญหาปรับแผนการทำงานอย่างไร ? เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่คาดหวังไว้
กว่าจะสร้างแผน Marketing Strategy ให้เสร็จออกมาสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำเสร็จได้ในชั่วข้ามคืน มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการคิด, วิเคราะห์ และแยกแยะ เพื่อให้ได้แผนการที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามที่คาดหวังได้