Cyberbullying คืออะไร ? รู้ได้ไงว่ากำลังโดนกลั่นแกล้งอยู่ ? พร้อมวิธีรับมือ
Cyberbullying คืออะไร ? การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่ขยายความรุนแรงกว่าเก่า
การบูลลี่ (Bullying) กลายเป็นคำศัพท์เท่ๆ หรือ "Buzzword" ในปัจจุบัน ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับการถูกกลั่นแกล้ง มีการถูกนำเอามาถ่ายทอดในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ หนัง ภาพยนตร์ (Movie) ที่ค่อนข้างสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ซีรีส์เกาหลีเรื่อง The Glory ที่เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่โดนกลั่นแกล้งจนต้องออกจากโรงเรียนในที่สุด และตามมาแก้แค้นกลุ่มที่กลั่นแกล้งในภายหลัง
- Viral Marketing คืออะไร ? รู้จักการตลาดแบบปากต่อปาก ชนิดไฟลามทุ่ง กัน
- อาชีพ Influencer ดีจริงหรือไม่ ? ดู 7 ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงก่อนเป็น
- Reels กับ Stories คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ? มีตารางเปรียบเทียบ
- Comment Marketing คืออะไร ? รู้จักการตลาดแบบปลิง และสิ่งที่ควร-ไม่ควรทำ
- Elon Musk กับ Mark Zuckerburg อยากต่อยกันทำไม ? ทะเลาะอะไรกันหรือเปล่า ?
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การ Bully นั้น ทวีความรุนแรงขึ้นมากขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ที่มีจำนวนผู้ที่กลั่นแกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้งขนาดใหญ่ขึ้น จากการ Bully ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนเฉพาะที่โรงเรียน ก็กลายเป็นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบน โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) หรือบนโลกไซเบอร์ ทีนี้ลองมาทำความรู้จัก ทั้งการ Bully และ Cyberbullying กัน
การกลั่นแกล้ง คืออะไร ? (What is Bullying ?)
คำว่า "บูลลีอิ้ง (Bullying)" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1560 (พ.ศ. 2103) แต่ความหมายในยุคนั้น ภาษาดัตช์กลาง แปลว่า "เพื่อน" หรือ "คนที่คุณรัก" ซึ่งต่างจากปัจจุบันนี้คนละขั้วเลยทีเดียว แลัวมันกลายมาเป็นคำนี้ได้อย่างไร ?
ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) นักวิจัยชาวนอร์เวย์ Dan Olweus ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งการต่อต้านการบูลลี่" ได้อธิบายความก้าวร้าวที่เขาสังเกตเห็นได้ในสนามโรงเรียน เขาได้นิยามความก้าวร้าวและการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นี้ด้วยคำว่า "Bullying"
ลองมาดูความหมายของการกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่กันก่อน การกลั่นแกล้ง คือ พฤติกรรมก้าวร้าวไม่พึงประสงค์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้สังคมนั้น ๆ สามารถรับรู้ได้ว่ามีความไม่สมดุลทางอำนาจ มีคนที่เหนือกว่า มีคนที่ด้อยกว่า และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการกลั่นแกล้งซ้ำ ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กวัยเรียน
รูปแบบของการกลั่นแกล้งนั้น มีอยู่หลายประเภท ได้แก่
Verbal Bullying (การกลั่นแกล้งทางวาจา)
การกลั่นแกล้งทางวาจา อย่างเช่น การล้อเลียน ล้อเล่น ล้อชื่อ หรือแม้แต่เรียกชื่อ การแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพศ การคุกคามทางเพศ การข่มขู่ หรืออะไรก็ตามที่เป็นคำพูดรวมไปถึงการเขียน ที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ล้วนเป็นการกลั่นแกล้งทางวาจาทั้งสิ้น
Social Bullying (การกลั่นแกล้งทางสังคม)
การกลั่นแกล้งทางสังคม ไม่เชิงว่าเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) เลยเสียทีเดียว แต่เป็นการกลั่นแกล้งที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียง ทำลายความสัมพันธ์ของใครบางคน การทิ้งใครซักคนให้โดดเดี่ยว การบอกคนอื่นไม่ให้ยุ่งกับคน ๆ นี้ หรือการทำให้คนอับอายในที่สาธารณะ
Physical Bullying (การกลั่นแกล้งทางร่างกาย)
การใช้กำลังไม่ว่าจะเป็นการต่อยตี ผลัก ขัดขา ถ่มน้ำลาย หรือแม้กระทั่งใช้สัญญาณมือด่า หรือข่มขู่ เช่นการชูนิ้วกลาง ก็ถือเป็นการ กลั่นแกล้งทางร่างกายทั้งสิ้น
การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ คืออะไร ? (What is Cyberbullying ?)
จริง ๆ แล้วการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ไม่ได้แตกต่างจากการกลั่นแกล้ง (Bullying) ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่เปลี่ยนสนามมาทางไซเบอร์แทน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ เว็บไซต์ เว็บบอร์ด หรือแอปฯ แชท อะไรก็ตามที่อยู่บนโลกไซเบอร์ ทำให้กลุ่มของผู้กลั่นแกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้งใหญ่ขึ้น รุนแรงขึ้น มีเครื่องมือให้ใช้ในการกลั่นแกล้งมากขึ้น แต่ก็ทิ้ง รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) เอาไว้ เป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินคดีได้
Image by pikisuperstar on Freepik
พฤติกรรมอะไรที่เข้าข่าย การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ บ้าง ? (Which behaviors fall into the category of Cyberbullying ?)
- Social Exclusion (การกีดกันจากสังคม) : คือการกีดกันเหยื่อออกจากกลุ่ม หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การตั้งกรุ๊ปไลน์ไม่มีนาย A
- Harassment (การคุกคาม) : คล้ายคลึงกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางวาจา ทั้งเสียงและข้อความ ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ
- Doxing (การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นโดยไม่ยินยอม) : การเอาข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย ให้เกิดความเสียหายหรืออับอาย ตั้งแต่ความลับไปจนถึงคลิปลับ
- Trickery (การล่อลวง) : หลอกให้เชื่อใจเพื่อล้วงข้อมูล แล้วหักหลังด้วยการ Doxing
- Cyberstalking (การสะกดรอยตามทางไซเบอร์) : ตามติดชีวิตคนอื่นในระดับการระรานจนเกิดความกลัว เช่น กดไลค์รัวๆ ส่งข้อความ ส่งภาพลับ
- Fraping (ล่วงละเมิดบัญชีโซเชียล) : คำนี้มาจากการผสมคำว่า "Facebook + Rape" นั่นคือ การสวมรอยเอาบัญชีโซเชียลคนอื่นมาโพสต์ หรือกระทำการต่าง ๆ ให้เกิดความอับอาย
- Masquerading (สร้างแอคเคาท์ปลอม) : ในขณะที่ Fraping คือการแอบใช้แอคเคาท์จริงไปทำให้เสียหาย การ Masquerading คือ สร้างแอคฯ ปลอมขึ้นมาสร้างชื่อเสีย
- Dissing (ดูหมิ่น) : เป็นการว่าร้ายเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อทำลายชื่อเสียงหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยทั่วไปผู้กระทำจะมีความสัมพันธ์กับเหยื่อ
- Trolling (ปลุกปั่น) : เป็นการปลุกปั่นกลั่นแกล้งเหยื่อทางออนไลน์ ให้เกิดความเสียหาย ผ่านการคอมเมนต์บนโซเชียลหรือเว็บบอร์ด ซึ่งผู้กระทำมักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหยื่อ
- Flaming หรือ Roasting (การเผา) : คล้ายกับการ Trolling แต่มีความรุนแรงกว่า ใช้ภาษาหยาบคายและเจตนาข่มขู่เหยื่อ
รู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังโดนกลั่นแกล้งอยู่ (How do you know you are being bullied ?)
จุดเริ่มต้นของการบูลลี่ มักจะเกิดขึ้นจากการแซวหรือล้อเล่นกันขำ ๆ แต่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่แซวบางทีอาจจะมีคำต่อท้ายว่า "อย่าไปจริงจังกับมันมาก" แต่เราต้องถามใจตัวเองดูว่า เราขำไปกับเขาด้วยหรือเปล่า หรือเราอึดอัดหรือไม่ ซึ่งถ้าเราอึดอัดแล้วเอ่ยปากขอให้คนแซวหยุดการกระทำ แต่คู่กรณียังไม่หยุด นั่นแหละ เหตุการณ์เริ่มเข้าสู่การถูกกลั่นแกล้งแล้ว
สิ่งที่แย่กว่านั้นคือ ถ้าเหตุการณ์นี้อยู่บนโลกออนไลน์ จะไม่ได้มีเพียงแค่คนรู้จักของเราเท่านั้นที่ร่วมการกลั่นแกล้ง แต่อาจไปดึงความสนใจจากคนแปลกหน้าเข้ามาร่วมการกลั่นแกล้งด้วย แน่นอนว่าคนรู้จักที่มากลี่นแกล้งก็ระดับหนึ่งแล้ว แต่การที่มีคนไม่เกี่ยวข้องมากลั่นแกล้ง ว่าร้ายเราอีก ใครจะไปโอเคล่ะ ?
ทำอย่างไรเมื่อถูกกลั่นแกล้ง (How to do if you are being bullied ?)
เมื่อถูกกลั่นแกล้ง อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว สิ่งแรกที่ควรทำคือขอความช่วยเหลือ จากผู้ปกครอง ญาติสนิท หรือผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจ หากเป็นที่โรงเรียนก็ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรือครูที่ไว้ใจ
แต่ถ้าไม่สะดวกใจที่จะขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาคนใกล้ตัว ก็ลองมองหาที่ปรึกษาภายนอก เช่น มูลนิธิ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ อย่างในบ้านเราก็จะมีสายด่วน 1300 พร้อมให้คำปรึกษากับเด็กตลอด 24 ชั่วโมง
Image by Freepik
ถ้าการบูลลี่เกิดขึ้นบนโซเชียลแพลตฟอร์ม เราก็สามารถบล็อกบัญชีนั้น ๆ ที่เป็นผู้กระทำพร้อมกับรายงาน (Report) พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ เพราะโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะมีนโยบายที่ให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยในการใช้งานอยู่แล้ว