Authenticity Marketing หรือ การตลาดแบบจริงใจ คืออะไร ?
“Authenticity Marketing” การตลาดแบบจริงใจ คืออะไร ? คุณเข้าใจแค่ไหน ก่อนเอามาใช้สร้างแบรนด์ ?
ท่านเคยเจอแบรนด์ที่อวดอ้างสรรพคุณสินค้า หรือบริการ โฆษณาเกินจริงบ่อยไหม ? หากบ่อย แสดงว่าปัจจุบัน นักสื่อสารบางคนยังคงล้มเหลวในแง่ของ Authenticity Marketing แถมยังถูกจับได้ว่า "ขี้โกหก"
ที่จริงคำนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นหูหลายคน เพราะมันไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก โดยเฉพาะในยุคที่ข่าวสารถูกปรุงแต่งจนเป็นเรื่องปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจ แต่ถ้าคุณกำลังจะทำแบรนด์ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและความจริงใจ เพื่อมัดใจลูกค้า คุณจะต้องเข้าใจความหมายของคำนี้ให้มากขึ้น และ บทความนี้เราจะอธิบายเอง
การตลาดแบบจริงใจ คืออะไร ?
(What is Authenticity Marketing ?)
ขอบคุณภาพจาก Freepik
รากศัพท์ของคำว่า "Authenticity" แปลว่า "ความจริงใจ" และ "เที่ยงแท้" ดังนั้นคำว่า "Authenticity Marketing" ก็หมายถึงการตลาดแบบจริงใจนั่นเอง
ต้องจริงใจแบบไหน ?
พอนึกถึงคำนี้ สิ่งที่เราคิด แน่นอนว่าก็คือการแสดงให้ลูกค้าเห็นและเชื่อถือว่าคุณทำการค้าอย่างจริงใจพร้อมแสดงคุณค่าของความเป็นของแท้ ไม่ปรุงแต่ง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ฟังดูแล้วก็เหมือน วัตถุประสงค์ทั่วไปของการสร้างแบรนด์
อย่างไรก็ตามแก่นแท้ไม่ใช่ว่าต้องจริงใจมากหรือน้อย ไม่จำเป็นต้องพูดข้อเสียและข้อดีออกมาแต่ควรหาวิธีที่จะสื่อสารอย่างไร ทำให้เขาเชื่ออย่างปักหัวใจโดยไม่มีข้อกังขา ว่าสินค้าของคุณนั้นเที่ยงแท้ และแตกต่าง ที่สำคัญอย่าขี้โม้ เพราะมันจะดูเหมือนเราพยายามยัดเยียดใส่เขา ทำให้คุณค่าที่ดีอาจถูกมองด้อยค่าลงได้
จากประสบการณ์ทำงานกับ KOLs / KOC หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ภาพที่เรามักเห็นจนชินตา คือการที่แบรนด์ สั่งให้อินฟลูถือสินค้าโชว์หน้ากล้อง และพูดข้อความสำคัญที่สั้นๆ (Key Message) ออกมาโต้ง ๆ ซึ่งมองดูแล้วมันแทบจะเป็นรูปแบบเดียวกัน คนดูหลับตาข้างนึง ก็รู้ว่าจ้าง ซึ่งเราเห็นแบบนี้กันจนเป็นเรื่องปกติ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด และการใช้ Infuencer มาช่วยอธิบายข้อเท็จจริงมันก็ได้ผลในยุคนี้
เพียงแต่ว่าถ้าคุณเห็นแบบนั้นบ่อย ๆ คุณจะรู้สึกเชื่ออย่างเต็มที่หรือไม่ ? แน่นอนว่าในใจก็คงจะไม่ หนำซ้ำเมื่อได้สัมผัสกับสินค้าเองแล้วมันเกิดผลไม่ได้เท่าที่คุย ก็จะไม่ดีกับตัวแบรนด์และอินฟลูไปอีก
สื่อสารอย่างไร ? ให้จริงใจ และน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพูด (How to communicate honestly and reliable without speaking ?)
ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ กรณีของน้องลิซ่า (Lisa Blackpink) และแบรนด์ Celine ที่พอเราถอดสมการของ Authenticity Marketing จากเรื่องนี้ คุณจะเห็นวิธีสื่อสารของแบรนด์หรู ที่พยายามส่งสินค้าต่าง ๆ ทั้งเสื้อผ้า,หมวก หรือกระเป๋าให้ Lisa ใช้ และจากที่เห็นผ่านโลกโซเชียล Lisa ก็สวมใส่สินค้าเหล่านั้นจริง ๆ รูปถ่ายต่าง ๆ ใน IG ของเธอมักจะปรากฏสินค้า Celine อยู่บนร่างกายบ่อยครั้ง
คำถามคือเรารู้ไหมว่าแบรนด์คาดหวังอะไรจากลิซ่า แน่นอนเรารู้ แต่กรณีนี้ Lisa ไม่ต้องมานั่งถือสินค้าและพูดปาว ๆ ว่า เสื้อผ้า Celine นั้นดีอย่างนู้น อย่างนี้ แต่กลับได้เห็นลิซ่าเลือกสวมใส่เสื้อผ้าของ Celine ออกสู่สาธารณะเหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอที่ใช้มันอยู่แล้ว
นั่นเองทำให้คนที่ติดตาม Lisa ได้เห็น “ความจริงใจอย่างเที่ยงแท้” นั้นสะท้อนออกมา และเสียงในหัวของคุณก็จะดังว่า “Lisa ใส่เสื้อแบรนด์นี้บ่อยจัง แสดงว่าต้องดีมากแน่ๆ”
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของวิธีสื่อสารแบบ Authenticity Marketing ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน Lisa ก็กลายเป็นคนดังคู่บุญกับ Celine ไปเรียบร้อย ส่งผลที่ดีทางการตลาดอย่างล้นหลาม ทำให้ Celine กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกอย่างรวดเร็ว
เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ความจริงใจไม่จำเป็นต้องออกมาจากคำพูดแต่ต้องทำให้เห็น ถ้าเป็นงานบริการก็ต้องแสดงถึงการบริการที่พิเศษกว่าคนทั่วไป, สินค้าประเภทโภคภัณฑ์ ก็ต้องแสดงถึงความเป็นธรรมชาติไร้สารปนเปื้อน ถ้าเป็นอาหารหรือร้านอาหาร สูตรสำเร็จที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนมากใช้ก็คือคำว่า "ต้นตำรับ" ที่ติดอยู่ป้ายหน้าร้าน เพราะมันให้ความรู้สึกว่าเป็นของแท้ เป็นรสชาติของต้นตำรับที่ต้องลิ้มลอง
ขอบคุณภาพจาก : https://th.trip.com/moments/detail/salaya-123212-15706080?locale=th-TH
สรุปเกี่ยวกับ การตลาดแบบจริงใจ
(Authenticity Marketing Conclusion)
ความหมายที่นักสื่อสารอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Authenticity Marketing นั่นคือการใช้คนดังออกมาป่าวประกาศถึงคุณค่าของสินค้า เพราะคำพูดของคนดังมีน้ำหนัก อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างที่เรายกมา สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องออกมาจากปากของใครเลย แต่เป็นการทำให้เห็น และเข้าใจไปเอง
ดังนั้น Authenticity Marketing จึงมีความหมายสั้น ๆ ได้ใจความว่า “จะสร้างแบรนด์ อย่าขี้โม้ และสื่อสารอย่างมีระดับ” นั่นเอง