5 อาชีพเสี่ยงตกงาน ในอนาคต ทำไมถึงเสี่ยง ? งานมนุษย์จะถูกทดแทนด้วย AI เพราะอะไร ?
5 อาชีพเสี่ยงตกงาน ในอนาคต ทำไมถึงเสี่ยง ?
งานมนุษย์จะถูกทดแทนด้วย AI เพราะอะไร ?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีนั้นมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ ที่เราเรียกว่า "เอไอ (AI)" ซึ่งการเข้ามาของเอไอนั้นมีบทบาทในการช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้ชีวิตและการทำงานของมนุษย์เป็นอย่างมาก
และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเร็วมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับกันความสะดวกสบายนี้ อาจจะทำให้มนุษย์ไม่มีงาน หลายอาชีพในปัจจุบันก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูก "เลิกจ้าง"
มีอาชีพกว่า 83 ล้านตำแหน่ง จะถูกเลิกจ้างในอนาคต ...
ซึ่งจากรายงาน The Future of Jobs Report 2023 ของ World Economic Forum (WEF) พบว่าภายในปี ค.ศ. 2027 (พ.ศ. 2570) จะมีตำแหน่งงานใหม่ประมาณ 70 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันจะมีตำแหน่งงานที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 83 ล้านตำแหน่ง
ซึ่งจากการคาดการณ์นี้ อาชีพที่มีแนวโน้มเสี่ยงตกงานในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) มากที่สุด ได้แก่ 5 อาชีพนี้ด้วยกัน
1. พนักงานธนาคาร และตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง (Bank Teller and Related Clerk)
คุณเดินเข้าธนาคารครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? คุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์ตอนไหน ? ถ้าไม่ใช่ตอนที่มีปัญหาเรื่องระบบขัดข้อง หรือ ทำธุรกรรมเบิกเงินก้อนใหญ่ ก็แทบจะไม่ต้องคุยกับพนักงานธนาคารเลยใช่ไหมล่ะครับ ?
เพราะในยุคนี้ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะจ่ายเงิน โอนเงิน สมัครสินเชื่อต่าง ๆ นั้นสามารถทำได้ที่บ้าน เพียงแค่มีมือถือและอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้จากทุก ๆ ที่ โดยไม่ต้องให้พนักงานธนาคารคอยดูแล หรือ ตรวจสอบใด ๆ เหมือนกับสมัยก่อน เป็นการเข้าสู่ ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) แบบเต็มตัว
เมื่อพฤติกรรรมของผู้ใช้งานเปลี่ยนไป ระบบการเงินและธุรกรรมต่าง ๆ ก็สามารถใช้งานผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น ธนาคารหลาย ๆ แห่งก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการให้บริการ โดยมีการลดขนาดของการจ้างงานภายในองค์กรลง ไม่ว่าจะเป็น พนักงานหลังบ้าน พนักงานดูแลหน้าเคาเตอร์ พนักงานประจำสาขา หรือแม้แต่พนักงานประจำสำนักงานใหญ่ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกระทบจากตรงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. พนักงานให้บริการไปรษณีย์ (Postal Service Clerk)
ในปัจจุบันบริการไปรษณีย์และระบบขนส่งต่าง ๆ นั้นได้มีการนำเอา เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ในหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็น การจัดเรียงพัสดุ ติดตามพัสดุ เคลื่อนย้าย สามารถใช้เครื่องมือและระบบคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานไปรษณีย์ได้ ในส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระในการจัดการพัสดุในคลังได้มากเลยทีเดียว
อย่างระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation) นั้นก็มีหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยทำหน้าที่เคลื่อนย้าย จัดเรียง คัดแยกสินค้าแบบอัตโนมัติ ได้แทบจะทั้งหมด รวมไปถึงระบบการขนส่งไปรษณีย์ในต่างประเทศ นั้นก็มีการทดลองนำรถยนต์ไร้คนขับมาใช้ในการจัดส่งพัสดุ
วันใดวันหนึ่งจากที่เราเคยมีพี่ ๆ น้อง ๆ ไปรษณีย์ไทย หรือ เคอรี่ โทรมาหา "มีของมาส่งครับ" แต่จู่ ๆ ก็ไม่มีคนโทรมา แต่เห็นเป็นรถไปรษณีย์ที่วิ่งมาจอด ฝากของไว้หน้าบ้านเรา โดยที่ไม่มีพนักงานที่เป็นคนจริง ๆ เลยก็ได้
3. พนักงานเก็บเงิน / ขายตั๋ว (Cashier and Ticket Clerk)
หลาย ๆ คนคงเห็นตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ (Kiosk) ที่ไร้พนักงานตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ อย่างที่เห็นได้บ่อย ๆ เลยก็คือ โรงหนัง และ รถไฟฟ้าบีทีเอส จากที่แต่ก่อนยังไม่มีระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ จะซื้อตั๋วก็ต้องซื้อจากพนักงาน แต่ในปัจจุบันสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้ปรับเปลี่ยนลดจำนวนพนักงาน เหลือคนจริง ๆ เพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น
ยังไม่รวมช่องทางการซื้อขายรูปแบบอื่น ๆ ที่ในปัจจุบันสามารถซื้อ-ขาย ผ่านระบบออนไลน์ได้ อย่างการจองตั๋วโรงแรม ตั๋วการบิน ต่าง ๆ ก็สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ ทุกอย่างกลายเป็นระบบดิจิทัล ทำให้ความจำเป็นของการใช้พนักงานเก็บเงินและขายตั๋วนั้นลดลง อาจจะเหลือผู้ดูแลเพียงบางส่วนที่ช่วยแก้ไขปัญหาหน้างานในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้อง
4. พนักงานบันทึกข้อมูล หรือพนักงานคีย์ข้อมูล (Data Entry Clerk)
หากเอ่ยถึง "งานบันทึกข้อมูล (Data Entry)" หรือที่เราเรียกกันว่า "คีย์ข้อมูล" เป็นการนำข้อมูลจากเอกสารที่เป็นกระดาษนำมาพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ บันทึกในระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ทักษะในการตรวจสอบและเช็คข้อมูลในถูกต้องครบถ้วน ซึ่งการทำงานก่อนหน้านี้อาจจะใช้คนจำนวนมากในการเช็คและตรวจสอบ
แต่ในปัจจุบันมีการนำเอา เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการป้อนข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ของพนักงานคีย์ข้อมูล ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรก ๆ อาจจะมีการปรับตัวในเรื่องของการเตรียมข้อมูล แต่สุดท้ายแล้วปลายทาง เมื่อระบบมีความสมบูรณ์มากขึ้น ความต้องการของบริษัทที่จะใช้พนักงานบันทึกข้อมูลก็มีน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
5. เลขานุการฝ่ายบริหาร (Administrative and Executive Secretary)
เลขา AI จะมาแทนที่คนจริง ๆ ได้หรอ ? คำตอบก็คือ มีสิทธิ์เป็นไปได้ เพราะ เทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน หรือ ระบบผู้ช่วยเสมือน นั้นสามารถเชื่อมต่อเข้ากับข้อมูลภายในบริษัทจัดการนัดดำเนินการต่าง ๆ ช่วยเหลือหัวหน้างาน หรือ เจ้าของธุรกิจ ต่าง ๆ แทนคนจริง ๆ ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางส่วนอยู่ เพราะ AI เอง ก็ยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์แบบ 100% ได้เสียทีเดียว
เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าตำแหน่งเลขา นั้นมีบทบาทและหน้าที่ ที่ซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมเอกสาร ติดต่อประสานงาน ยังต้องมีความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ภายในบริษัทเป็นอย่างดี ทั้งการสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน การตัดสินใจจัดการกับเวลา วางแผนงานต่าง ๆ ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้ความสามารถของมนุษย์ในการดูแลส่วนนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องในการดูแลเก็บรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลภายในบริษัท
เลขาจริง ๆ ที่เป็นมนุษย์อาจจะยังจำเป็นอยู่ แต่การมีเลขา AI ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ก็จะสามารถทำให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ถึงอย่างไรก็ตามอาชีพเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ อาจจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วนของโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่มีผลกระทบในระยะยาว และทุกอย่างคงไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม
การที่ เทคโนโลยี AI เข้ามาแทนที่อาชีพของมนุษย์นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสำหรับมนุษย์ซะทีเดียว และไม่ได้แปลว่ามนุษย์จะไม่มีอาชีพอื่น ๆ ทำ เพียงแต่ว่าอาชีพเกา ๆ นั้นจะหายไป และจะมีอาชีพใหม่ ๆ เข้ามาแทน ซึ่งบางอาชีพใหม่ ๆ ที่ถูกปรับเปลี่ยนในอนาคคตอาจจะเป็นอาชีพที่คุณไม่คาดคิดก็ได้