5 อาชีพที่มาแรง ต้อนรับยุค AI ครองเมือง มีอาชีพอะไรบ้าง ? และทำไมถึงเป็นที่สนใจในตลาด ?
5 อาชีพที่มาแรง ต้อนรับยุค AI ครองเมือง
ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ไปในหลาย ๆ ด้าน และในที่สุดเวลานี้ก็มาถึง ช่วงเวลาที่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์มากขึ้น ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลาย ๆ ที่ปลดพนักงานนับร้อยนับพัน หลาย ๆ อาชีพเองก็ประสบปัญหาตกงานกันนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ตามทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ สิ่งที่ใครหลาย ๆ คนกลัว ก็อาจจะไม่น่ากลัวเสมอไป เพราะการมาของ AI ทำให้หลายอาชีพต่างพากันตกงานก็จริง แต่ก็มีอีกหลายอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ และเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาด
ซึ่งในบทความนี้เอง จะมาแนะนำเกี่ยวกับอาชีพที่จะมาแรงในอนาคตปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) มาดูกันว่าจะมีอาชีพไหนน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลอดในยุค AI ปัญญาประดิษฐ์ครองเมืองบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการมองหาตำแหน่งงาน และเส้นทางการทำงานใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับยุคสมัยในอนาคตที่กำลังเข้ามาถึงนี้
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์
(AI Machine Learning Specialists)
ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Machine Learning Specialists) เปรียบเสมือนผู้สร้างหัวใจหลักของ AI โดยผู้ทีมีทักษะอาชีพทางด้านนี้จะช่วยศึกษา ออกแบบ และพัฒนา Algorithm ให้ระบบ AI สามารถทำงานและเรียนรู้ได้ด้วยตัวระบบเอง โดยจะประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การแพทย์, การผลิต, การขนส่ง, การสื่อสาร, การเงิน และธุรกิจอื่น ๆ ได้มากมาย
ยกตัวอย่างเช่น การแพทย์ที่นำระบบ AI เข้ามาช่วยเหลือในการวินิจฉัยโรค เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จากฐานข้อมูลทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือ สายการผลิตที่นำระบบ AI มาช่วยตรวจจับข้อพกพร่อง คาดการณ์การซ่อมบำรุง เสริมความปลอดภัยให้พนักงานภายในโรงงาน ได้เป็นต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ จะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาระบบ AI ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต
ตัวอย่างสายอาชีพ : Machine Learning Engineer, Data Engineer, Deep Learning Engineer
ทักษะที่จำเป็น :
- Coding and Computer Skills (ทักษะด้านการเขียนโค้ดและคอมพิวเตอร์)
- Marketing Skills (ทักษะด้านการตลาด)
- Machine Learning (การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์)
- Deep Learning (การเรียนรู้เครือข่ายประสาทของมนุษย์)
- Mathematics and Statics (คณิตศาสตร์และสถิติ)
- Natural Language Processing (NLP) and Computer Vision (ทำความเข้าใจระบบภาษาของคอมพิวเตอร์)
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
(Sustainability Specialists)
เพราะโลกนี้ยังคงต้องไปต่อ สิ่งที่จะขาดและละเลยไปไม่ได้ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน (Sustainability Specialists) โดยอาชีพนี้จะช่วยเข้ามาวางแผนธุรกิจ บริหารจัดการความเสี่ยง ให้สอดคล้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินการธุรกิจ โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่ได้ในระยะยาว หลายบริษัทเองก็เริ่มปรับตัวและมองหาโซลูชันที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้
ทุกคนเองก็รู้กันดีว่า ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีไม่รู้จบ การมีอยู่ของเทคโนโลยี AI จะส่งผลต่อการใช้พลังงานและทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน จะสามารถเข้ามาช่วยดูแลและเติมเต็มรอยต่อของปัญหานี้ได้ ด้วยการออกแบบระบบที่ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กัน หนึ่งในหัวใจของอาชีพนี้ คือ การลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม คืนคุณภาพชีวิตและความสุขกลับสู่สังคม ส่งผลดีต่อทุก ๆ ฝ่ายในระยะยาว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในอนาคต
ตัวอย่างสายอาชีพ : Sustainability Strategy, Corporate Sustainability, Environmental Engineer
ทักษะที่จำเป็น :
- Foundational Knowledge (การจดจำข้อมูลพื้นฐาน)
- Forward-Thinking (หัวก้าวหน้า)
- Data Skills (การจัดการข้อมูล)
- Technical Reports (การรายงานข้อมูลทางเทคนิค)
- Environmental Compliance (การให้ความร่วมมือสิ่งแวดล้อม)
- Innovation Skills (ทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม)
3. นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ
(Business Intelligence Analysts)
แน่นอนว่าสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence Analysts) จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการพัฒนาระบบและเครื่องมือที่สามารถจัดการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หน้าที่หลัก ๆ ของนักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ คือ การรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการทางธุรกิจ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ จะทำให้เห็นภาพและแนวทางที่ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร ได้อย่างสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วและเกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างสายอาชีพ : Business Intelligence Developer, Business Intelligence Consultant, Business System Analyst
ทักษะที่จำเป็น :
- Analytics (การวิเคราะห์)
- Communication (การสื่อสาร)
- Creative Problem-Solving (การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์)
- Critical thinking (การวิเคราะห์เชิงลึก)
- Data Mining and Visualization (การรวมรวบและนำเสนอข้อมูลภาพ)
- Marketing and Predictive Analytics (การวิเคราะห์คาดการสภาวะตลาด)
- Machine Learning (การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์)
4. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
(Information Security Analysts)
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกถูกออนไลน์ทั้งหมด ข้อมูลที่มีความสำคัญ ก็ควรได้รับการปกป้อง นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security Analysts) จะเป็นอาชีพที่จะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยของข้อมูล วิเคราะห์โครงสร้างและออกแบบระบบที่สามารถป้องกันการเจาะและเข้าถึงข้อมูลภายในได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้และป้องกันการแฮกจากผู้ไม่หวังดี หรือ อีกชื่ออาชีพที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันดี ก็คือ Cyber Security นั่นเอง
ยกตัวอย่างธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ให้สำคัญในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเข้าถึงทรัพย์สินภายในธนาคารและในรูปแบบดิจิทัล หากไม่มีการวางระบบรักษาความปลอดภัยเอาไว้ ข้อมูลรายชื่อผู้ใช้และทรัพย์สินต่าง ๆ ก็จะสามารถถูกคนไม่ประสงค์ ปลอมแปลง และเข้ามาขโมยไปได้อย่างง่าย ๆ ดังนั้นการพัฒนาความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการให้บริการด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างสายอาชีพ : Information Security Specialist, IT Auditor, Security Engineer
ทักษะที่จำเป็น :
- Security Analysis and Investigation (การวิเคราะห์และสืบสวนความปลอดภัย)
- Cloud Security (รักษาความปลอดภัยของระบบ Cloud)
- Customer Service (การดูแลบริการลูกค้า)
- Risk Analysis and Negotiation (การประเมินความเสี่ยงและต่อรอง)
- Data Management and Analytics (การบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล)
- IoT Security (ดูแลรักษาระบบความปลอดภัย IoT)
5. วิศวกรฟินเทค
(Fintech Engineers)
สังคมไร้เงินสดถูกผลักดันมานานหลายปีและได้รับการตอบรับที่ดีมาก วิศวกรฟินเทค (Fintech Engineers) ก็เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินและการบริการของธนาคารก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ วิศวกรฟินเทคจำเป็นต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับธุรกิจการเงินและพัฒนาระบบเพื่อรองรับผู้ใช้จำนวนมากและยังคงความปลอดภัยไว้อย่างสม่ำเสมอ
ในวันที่เราไม่สามารถใช้ QR Code จ่ายเงิน หรือ โอนเงินผ่านแอปธนาคารได้ แค่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ทำให้เราเดือดร้อนได้ไม่น้อย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดระบบธนาคารเกิดขัดข้องและล่มไปพร้อม ๆ กันจะเกิดอะไรขึ้น ? วิศวกรฟินเทคที่ดูแลอยู่เบื้องหลังการทำงานของระบบเหล่านี้ เป็นตัวกลางที่ทำให้ระบบการเงินนั้นเดินหน้าต่อไปได้ จึงไม่แปลกที่อาชีพนี้จะเป็นที่ต้องการในอนาคตต่อไป
ตัวอย่างสายอาชีพ : Fintech Developer, Fintech Analyst, Financial System Engineer
ทักษะที่จำเป็น :
- Java and Python Programming (เขียนโค้ดภาษา Java และ Python)
- Data Science (วิทยาการข้อมูล)
- Fintech Product Development and Marketing (การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด Fintech)
- Cyber security and Data Privacy Management (การป้องกันข้อมูลไซเบอร์และการจัดการข้อมูลความเป็นส่วนตัว)
- Financial Data Management (การบริหารจัดการข้อมูลด้านการเงิน)
- Machine Learning (การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์)