ส่องกลลวงการตั้งราคาสินค้าแบรนด์ดัง Netflix, Apple กับดักราคาสินค้าที่ชวนให้กระเป๋าฉีก !
ส่องกลลวงการตั้งราคาสินค้าแบรนด์ดัง กับดักราคาสินค้าที่ชวนให้กระเป๋าฉีก ! เพราะอะไร Netflix ถึงครองตลาด ? Apple ถึงมีแต่คนซื้อ ?
คุณเคยสงสัยไหมว่า แบรนด์ดัง ๆ อย่าง Netflix และ Apple เขาใช้วิธีอะไรในการโน้มน้าวใจให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ ? ถ้ามองดูดี ๆ ราคาสินค้าที่วางจำหน่าย และ แพ็กเกจบริการเองก็ไม่ใช่ถูก ๆ เลย แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากพร้อมที่จะยอมจ่ายเงินออกจากกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย เพราะอะไรกันนะ ?
ภาพมือถือ iPhone 14 Pro กำลังเปิด Netflix เพื่อดูหนังภาพยนตร์
จะบอกว่าเป็นเพราะสินค้ามีคุณภาพดี หรือ บริการที่ตอบโจทย์ ที่แบรนด์มีให้ลูกค้า ? ทั้งสองอย่างนั้นก็ใช่ แต่อีกสิ่งนึงที่มองข้ามไปไม่ได้ นั่นก็คือ กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า (Pricing strategies) โดยแบรนด์ดัง ๆ มักใช้วิธีเหล่านี้ ได้แก่ การตั้งราคาตัวเลือกแบบหลอกล่อ (Decoy pricing) และ การตั้งราคาแบบขั้นบันได (Ladder strategy) พอลูกค้ารู้ตัวอีกทีก็จ่ายเงินไปเสียแล้ว... แถมบางคนอาจจะจ่ายไปมากกว่าที่ตัวเองคิดไว้ด้วย...
ซึ่งในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับกลยุทธ์เหล่านี้ให้มากขึ้น พร้อมกับแนะนำวิธีการนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ในธุรกิจของคุณให้เรียกลูกค้า ดึงดูดจูงใจลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สิ่งแรกที่ไม่ควรมองข้าม คือ พฤติกรรมของมนุษย์ ทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค
(Human Behavior, Customer Too)
ก่อนที่เราจะพาไปรู้จักกับการตั้งราคาของ เรามาทำความเข้าใจกับ "มนุษย์" เสียก่อน เพราะมนุษย์อย่างเรา ๆ นั้นก็คือลูกค้า เป็นผู้บริโภคที่ซื้อขายสินค้า แทบจะหนึ่งเดียวบนโลก (ตราบใดที่ยังไม่มีมนุษย์ต่างดาวบุกเข้ามาล่ะนะ)
ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์ (Human Behavior) ในการรับรู้มูลค่าและราคาของสินค้า มักมีการเปรียบเทียบราคาเพื่อที่จะเปรียบเทียบความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป อย่างการตั้งราคาสินค้าเอง ก็มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์อยู่ไม่น้อย หากมีสินค้าเพียงชิ้นเดียว เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า สินค้านั้นมีมูลค่าสูง หรือ ต่ำ / ถูก หรือ แพง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายื่นขวดน้ำ 1 ขวดให้คน ๆ นึง โดยที่เขาไม่รู้มาก่อนว่าขวดน้ำมีราคาเท่าไหร่ เขาก็คงตอบไม่ได้ว่ามันราคาเท่าไหร่กันแน่ อาจจะถูกหรือแพงก็ได้ เพราะที่เห็นก็เป็นเพียงแค่น้ำเปล่า 1 ขวด ไม่มีอะไรนอกจากนั้น แต่ว่าๆ ถ้าเรามีตัวเลือกให้ลูกค้าเปรียบเทียบล่ะ ? เช่น
น้ำดื่มธรรมดา ราคา 10 บาท
(ขวดพลาสติกธรรมดา)
กับ
น้ำแร่ธรรมชาติจากเทือกเขาหิมาลัย ราคา 1,000 บาท
(ขวดแก้วแกะสลัก เต็มเปี่ยมไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิด เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ)
ถึงแม้ทั้งสองขวด จะเป็นน้ำดื่มเหมือนกัน แต่พอได้เห็นรูปร่างหน้าตาของสินค้า และข้อมูลบรรยายสรรพคุณ เท่านี้เราก็สามารถบอกได้แล้วใช่ไหมล่ะว่า ขวดไหนถูก และ ขวดไหนแพง นั่นก็เพราะมีตัวเลือกสินค้าและข้อมูลให้เปรียบเทียบ นั่นเอง ทีนี้เราก็เข้าใจคอนเซปต์เบื้องต้นของการรับรู้ราคาสินค้าจากพฤติกรรมมนุษย์แล้ว เราเริ่มไปดูเทคนิคการตั้งราคาสินค้าแบบ Decoy Pricing และ Ladder Strategy กัน
การจูงใจลูกค้า ด้วยการตั้งราคาสินค้าแบบเหยื่อล่อ
(Decoy Pricing)
เริ่มกันที่เทคนิคการตั้งราคาแบบเหยื่อล่อ (Decoy Pricing) หรือที่เรียกกันว่า "เทคนิคกำหนดราคาถูกใจ" วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ผู้ขายตั้งราคาสินค้า (ตัวที่ต้องการขาย) ให้ใกล้เคียงกับสินค้าตัวที่มีราคาถูกและคุณภาพน้อยกว่า
ซึ่งสินค้าตัวที่มีราคาถูกและคุณภาพน้อยกว่าที่ว่านี้จะทำหน้าที่เป็นเหยื่อล่อ (Decoy) เพื่อทำให้ตัวเลือกอื่นๆ น่าสนใจและดูคุ้มค่าเหมาะสมกับเงินที่ลูกค้าจ่ายไป งั้นเราลองมาดูตัวอย่างการตั้งราคาที่ด้านล่างนี้กัน
เช่น แพ็กเกจบนเว็บไซต์ของ Netflix (บริการดูหนัง และซีรีส์แบบสตรีมมิ่ง) หากลองมองดูราคาในแต่ละแพ็กเกจ ในปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีตัวเลือก อยู่ทั้งหมด 4 แพ็กเกจด้วยกัน ได้แก่
- แพ็กเกจมือถือ (Mobile) ราคา 99 บาท / เดือน
สามารถรับชมหนังและซีรี่ย์ได้ในคุณภาพ SD (480p) เฉพาะบนอุปกรณ์มือถือเท่านั้น - แพ็กเกจพื้นฐาน (Basic) ราคา 169 บาท / เดือน
สามารถรับชมหนังและซีรี่ย์ได้ในคุณภาพ HD (720p) สามารถรับชมได้ 1 อุปกรณ์ - แพ็กเกจมาตรฐาน (Standard) ราคา 349 บาท / เดือน
สามารถรับชมหนังและซีรี่ย์ได้ในคุณภาพ HD (1080p) และสามารถรับชมได้ 2 อุปกรณ์ พร้อมกัน - แพ็กเกจพรีเมี่ยม (Premium) ราคา 419 บาท / เดือน
สามารถรับชมหนังและซีรี่ย์ได้ในคุณภาพ 4K Ultra HD และสามารถรับชมได้ 4 อุปกรณ์ พร้อมกัน
จากราคาแพ็กเกจดังกล่าว จะเห็นว่า แพ็กเกจมือถือ (Mobile) ราคา 99 บาท จะเป็นตัวที่ราคาถูกสุด และมีคุณภาพน้อยที่สุดในบรรดาแพ็กเกจทั้งหมด หากซื้อแพ็กเกจนี้ไป ก็จะดูหนังได้เฉพาะบนอุปกรณ์มือถือเท่านั้น เปิดดูได้เพียงแค่ 1 เครื่อง ไม่สามารถดูบนคอมพิวเตอร์และทีวีได้ แถมความละเอียดก็ได้แค่ SD (480p) เท่านั้น คอหนังที่อยากดูหนังแบบภาพชัดๆ จอใหญ่ๆ ก็คงไม่ตอบโจทย์แน่ๆ
พอเทียบกับแพ็กเกจพื้นฐาน (Basic) ราคา 169 บาท ตัวถัดมา เราก็จะเห็นได้ว่าราคานั้นต่างกันเพียง 70 บาทเท่านั้นเอง หากเพิ่มเพียงอีกนิด ผู้ใช้ก็จะสามารถรับชมหนังและซีรี่ย์บนหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ได้ความละเอียดเพิ่มเป็น HD (720p) เปิดดูบนคอมพิวเตอร์ หรือ ทีวีจอใหญ่ๆ ได้ ไม่จำกัดเฉพาะอุปกรณ์มือถือ เท่านี้ก็น่าจะตอบโจทย์ใครหลายๆ คน ทำให้แพ็กเกจนี้ดูน่าซื้อมากกว่าแพ็กเกจมือถือแบบเริ่มต้น ใช่ไหมล่ะครับ ?
ในกรณีนี้ แพ็กเกจมือถือ (Mobile) ราคา 99 บาท ถือเป็น Decoy
ที่ทำให้แพ็กเกจพื้นฐาน (Basic) ราคา 169 บาท ดูน่าสนใจและคุ้มค่ากว่า
ส่วน Decoy ตัวที่สอง นั้นเป็น แพ็กเกจมาตรฐาน (Standard) ใช้วิธีการตั้งราคาที่ใกล้เคียงกับแพ็กเกจสูงสุด นั่นก็คือ แพ็กเกจพรีเมียม (Premium) หากสังเกตดีๆ ลูกค้าเพิ่มเงินอีกเพียงแค่ 70 บาท ก็จะได้แพ็กเกจสูงสุดที่สามารถใช้งานได้ทุกอย่าง ดูหนังได้แบบ 4K+HDR ความละเอียดคมชัดสีสันบาดตา แบบเต็มอรรถรส แถมเปิดดูได้ทุกอุปกรณ์พร้อมกันสูงสุดถึง 4 เครื่อง โดยไม่ต้องแย่งดูกับคนที่บ้าน
สรุปง่าย ๆ เทคนิคการกำหนดราคาถูกใจ (Decoy Pricing) นั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพ็กเกจ หรือ สินค้าต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างสินค้า Decoy (เหยื่อล่อ) ที่มีราคาถูกดูไม่ค่อยคุ้มค่า เพื่อทำให้สินค้า Target (เป้าหมาย) ตัวที่ต้องการขายดูน่าสนใจในสายตาลูกค้ามากขึ้นนั่นเอง
กลยุทธ์การตั้งราคาแบบขั้นบันได เพื่อเพิ่มทางเลือก และดึงดูดผู้บริโภค
(Ladder Strategy)
การตั้งราคาแบบขั้นบันได (Ladder Strategy) เป็นกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคด้วยสินค้าราคาถูก และค่อย ๆ ทำให้เห็นมูลค่าของสินค้าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับขั้นขึ้นไป
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างแก้วกาแฟที่ขายตามห้าง ก็จะมีการตั้งราคาแก้วกาแฟตามขนาดไซส์ต่าง ๆ ตั้งแต่ 8oz, 12oz, 16oz, และ 20oz แบ่งตามราคา เช่น 35 บาท, 45 บาท 55 บาท และใหญ่สุดที่ 60 บาท ที่ลูกค้าเพิ่มราคาอีกนิดก็จะได้แก้วไซส์ใหญ่สุด ดูคุ้มค่าในสายตาหลาย ๆ คน
ในโลกธุรกิจใหญ่ ๆ อย่างบริษัท Apple เอง ก็ได้ใช้กลยุทธ์รูปแบบนี้ในการตั้งราคาผลิตภัณฑ์แทบจะทุกโปรดักส์ตั้งแต่ iPhone, iPod, iPad ไปจนถึง Macbook, iMac, และ Mac Pro ก็ใช้กลยุทธ์รูปแบบนี้
ลองมาดูเหตุการณ์ขั้นบันไดสมมติ ของกลยุทธ์ Ladder Strategy นี้กัน
มีลูกค้าท่านนึงเคยใช้ iPhone X มาก่อน ยังใช้ดีอยู่นะ แต่ว่าตอนนี้ก็เก่ามากแล้ว กล้องก็ถ่ายภาพไม่ค่อยชัด เครื่องก็เริ่มช้า แบตก็เริ่มเสื่อม อยากอัปเกรดเป็นรุ่นใหม่ ไม่รู้จะซื้อรุ่นอะไรดี
เลยเช็คในเว็บไซต์ Apple กะว่าจะซื้อ iPhone รุ่นใหม่สักเครื่อง โดยตั้งงบไว้ประมาณ 20,000 - 30,000 บาท ลองเลื่อน ๆ ดูราคาแต่ละรุ่นว่ามีรุ่นไหนราคาเท่าไหร่บ้าง ปัจจุบันก็มีดังนี้ (ราคาอัปเดตเมื่อวันที่ 28 เดือนเมษายน พ.ศ. 2566)
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.apple.com
- iPhone SE เริ่มต้นที่ 17,900 บาท
- iPhone 12 เริ่มต้นที่ 24,900 บาท
- iPhone 13 mini เริ่มต้นที่ 24,900 บาท
- iPhone 13 เริ่มต้นที่ 29,000 บาท
- iPhone 14 เริ่มต้นที่ 32,900 บาท
- iPhone 14 Plus เริ่มต้นที่ 37,900 บาท
- iPhone 14 Pro เริ่มต้นที่ 41,900 บาท
- iPhone 14 Pro Max เริ่มต้นที่ 44,900 บาท
อืมม... iPhone SE ตัวเริ่มต้นอยู่ที่ 17,900 บาท ถ้าเพิ่มความจุเป็น 128GB ก็จะอยู่ที่ราคา 19,900 บาท ก็อยู่ในงบที่ตั้งไว้พอดีนะ แต่ไม่มีระบบ (Face ID) สแกนหน้า ที่เคยใช้เหมือนรุ่นก่อน อยากได้ระบบสแกนหน้าด้วย งั้นเพิ่มเงินอีกนิดดีกว่า ก็จะเจอกับ iPhone 12 ที่ราคา 24,900 บาท (บางคนอาจจะซื้อรุ่นนี้ใช่ไหมล่ะครับ ?)
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.apple.com
แต่พอหันไปดูตัวข้าง ๆ iPhone 13 mini ก็ราคาเท่ากันกับ 12 เลยนิ ? แถมได้ความจุ 128GB เยอะกว่าด้วย ! แต่ตัวเครื่องมีขนาดจอที่เล็กกว่าซะงั้น ถ้าเคยใช้รุ่นที่จอใหญ่กลับมาใช้รุ่นจอเล็กก็ไม่ค่อยถนัด งั้นเลือก iPhone 13 ก็น่าจะตอบโจทย์ จากที่ดูประสิทธิภาพเครื่องก็เร็วกว่ารุ่นก่อน ๆ แถมกล้องก็ชัดขึ้น ถ่ายภาพกลางคืนได้ สแกนหน้าไวขึ้น ถ้าซื้อทั้งทีก็ใช้งานยาว ๆ อยู่แล้ว งั้นกดซื้อเลยละกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.apple.com
สุดท้ายลูกค้าคนนี้ก็ได้ซื้อ iPhone รุ่นที่แพงกว่างบที่ตั้งไว้
จาก 20,000 บาท กลายเป็น 30,000 บาท (มีทอน 100 บาท)
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.apple.com
เห็นไหมครับ ? จากตัวอย่างข้างต้นผลิตภัณฑ์ของ Apple มีการตั้งราคาสินค้ารุ่นเริ่มต้นที่มีราคาถูกสุด และค่อย ๆ เพิ่มฟีเจอร์ขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์สแกนใบหน้า, ความละเอียดหน้าจอ, ขนาดหน้าจอ, คุณภาพกล้อง, ความจุ, ความทนทาน, ประสิทธิภาพเครื่องที่ดีขึ้น รวมไปถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้มองเห็นว่ามันดีกว่าตัวเริ่มต้นในหลาย ๆ ด้าน
รวมถึงการตั้งราคาที่มีความห่างกัน ในการอัปเกรดในแต่ละรุ่น ตั้งแต่ 2,000 ไปจนถึง 5,000 แต่ก็แฝงไปด้วยคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้นตามราคาที่สูงขึ้นไป "เหมือนกับการพาเดินขึ้นบันไดทีละขั้น" จนสู่จุดที่ผู้ใช้ยอมจ่ายเงินมากขึ้นนั่นเองครับ
ตัวอย่างการนำเทคนิคการตั้งราคา Decoy Pricing และ Ladder Pricing ไปใช้ (Example of using Decoy and Ladder Pricing Techniques)
อยากนำเทคนิคการตั้งราคา Decoy Pricing และ Ladder Pricing เหล่านี้ไปใช้ ทำอย่างไรดี ? งั้นลองมาดูตัวอย่างการตั้งราคาสินค้าแต่ละรูปแบบที่ด้านล่างนี้กันครับ เริ่มจาก Decoy Pricing กันก่อน
1. Decoy Pricing: ใส่ตัวเลือกหลอกล่อที่ไม่น่าสนใจเพื่อเน้นความคุ้มค่าของสินค้าตัวอื่น
ตัวอย่าง 1: ร้านขายกาแฟ Cafe
- A. กาแฟ (ธรรมดา) - 60 บาท
- B. กาแฟ (พรีเมียม) - 80 บาท
- C. กาแฟ (พรีเมียมพร้อมขนมทานเล่น) - 85 บาท
จากตัวอย่างนี้ จะมีการใส่ตัวเลือก B ให้เป็นเป็น Decoy เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นความคุ้มค่าของตัวเลือก C ที่มาคู่กับขนมทานเล่น โดยเพิ่มเพียงแค่ 5 บาทเท่านั้น ทำให้ลูกค้าโน้มน้าวสู่การเลือกตัวเลือก C ที่ทำให้มียอดขายและกำไรมากขึ้น
ตัวอย่าง : ธุรกิจให้เช่าห้องประชุม
- A. ห้องประชุมราคา 3,000 บาท / ชั่วโมง (ไม่รวมอุปกรณ์)
- B. ห้องประชุมราคา 5,000 บาท / ชั่วโมง (รวมอุปกรณ์)
- C. ห้องประชุมราคา 7,000 บาท / ชั่วโมง (รวมอุปกรณ์และอาหารเย็น)
ในตัวอย่างนี้ B คือ Decoy ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า C คุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากเพียงเพิ่มเงินเพียง 2,000 บาท ก็ได้อุปกรณ์และอาหารเย็นเพิ่มขึ้น ประชุมเสร็จก็พักผ่อนทานอาหารเย็นต่อได้เลย
ตัวอย่าง : บริการสมัครสมาชิกออนไลน์
- A. สมัครสมาชิกฟรี (Free) (รับสิทธิ์ใช้งานบางส่วน)
- B. สมัครสมาชิกเบื้องต้น (Basic) ราคา 300 บาทต่อเดือน (รับสิทธิ์ใช้งานทุกส่วน)
- C. สมัครสมาชิกพรีเมียม (Premium) ราคา 500 บาทต่อเดือน (รับสิทธิ์ใช้งานทุกส่วน + สิทธิ์พิเศษ)
การเพิ่มตัวเลือก B ที่เป็น Decoy เข้ามาทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า C คุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากเพียงเพิ่มเงินเพียง 500 บาท ก็ได้รับสิทธิ์พิเศษเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไป
ทีนี้ก็พอจะเห็นภาพของการใช้ Decoy Pricing กันแล้วใช่ไหมล่ะครับ ? เทคนิคนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับธุรกิจหลากหลายประเภท เพียงแค่เพิ่มตัวเลือกสินค้า หรือ บริการที่เป็น Decoy เข้าไป ทำให้มีความต่างเรื่องความคุ้มค่าให้มากที่สุด เท่านี้ลูกค้าก็จะเริ่มมองหาตัวเลือกที่มีความคุ้มค่าและราคาที่ตรงใจลูกค้าและยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่เราต้องการขายได้ง่ายมากขึ้น
2. Ladder Pricing: ตั้งราคาแบบขั้นบันได นำเสนอสินค้าราคาต่างๆ ตามคุณภาพ
ตัวอย่าง : ขายหนังสือและ E-book
- หนังสือราคา 199 บาท (รับไฟล์ PDF)
- หนังสือราคา 299 บาท (รับไฟล์ PDF และส่งที่อยู่เฉพาะในประเทศไทย)
- หนังสือราคา 399 บาท (รับไฟล์ PDF และส่งที่อยู่ไทยและต่างประเทศ)
เทคนิค Ladder Pricing จะช่วยให้ลูกค้าได้เลือกซื้อหนังสือในระดับที่ตนเองต้องการ และให้ความสะดวกในการเลือกซื้อด้วยราคาที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขายได้ด้วยการให้โปรโมชั่นหรือส่วนลดสำหรับการซื้อเพิ่มในภายหลัง เช่น ส่วนลด 10% เมื่อซื้อหนังสือครั้งต่อไป หรือโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการเพิ่มส่วนลดสำหรับการซื้อหนังสือในภายหลัง
ตัวอย่าง : สินค้าไอที เกมคอมพิวเตอร์
มาดูตัวอย่างสินค้าที่ใช้ Ladder Pricing อีกสักตัว อย่าง สินค้าไอที เช่นเกมคอมพิวเตอร์ ที่วางขายในร้านค้าออนไลน์ จะมีการขายเกมแต่ละเกมในราคาที่ต่างกันตามรุ่น โดยมีราคาเริ่มต้นจากแพ็กเกจรุ่นเบื้องต้นและเพิ่มราคาเรื่อยๆ ตามรุ่นที่สูงขึ้น ตามด้านล่างนี้ เช่น
- เกม XYZ Basic Edition ราคา 1,000 บาท
- เกม XYZ Deluxe Edition ราคา 1,500 บาท (เพิ่มราคา 500 บาทจาก Basic Edition)
- เกม XYZ Ultimate Edition ราคา 2,000 บาท (เพิ่มราคา 500 บาทจาก Deluxe Edition)
การใช้ Ladder Pricing ในการตั้งราคาสำหรับสินค้าออนไลน์จะช่วยให้ร้านค้าสามารถเพิ่มยอดขายได้โดยไม่ต้องลดราคาของสินค้า เพราะผู้บริโภคจะมีโอกาสเลือกซื้อแพ็กเกจที่มีความคุ้มค่ามากกว่า โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และการใช้ Ladder Pricing ยังสามารถสร้างความผูกพันของลูกค้าต่อแบรนด์ในระยะยาวได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การนำเทคนิคการตั้งราคา Decoy Pricing และ Ladder Pricing ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ ควรพิจารณาความเหมาะสมกับตลาดและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างรอบคอบ และคอยวัดผลเพื่อปรับปรุงและปรับตัวสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในธุรกิจของคุณครับ