สิทธิ์การนำภาพไปใช้งานรูปแบบ Right Managed กับ Royalty-Free คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 8,524
เขียนโดย :
สิทธิ์การนำภาพไปใช้งานรูปแบบ Right Managed กับ Royalty-Free คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
สิทธิ์การนำภาพไปใช้งานรูปแบบ Right Managed กับ Royalty-Free คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 8,524
เขียนโดย :

Right Managed กับ Royalty-Free แตกต่างกันอย่างไร ?

ในปัจจุบัน การนำภาพและสื่ออื่น ๆ ไปใช้งานออนไลน์มีปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์ แม้จะมี Creative Commons องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยกับเงื่อนไขการใช้งานรูปภาพแต่ละแบบอยู่ดี เช่น สิทธิ์การนำภาพไปใช้งาน Right Managed กับ Royalty-Free แตกต่างกันอย่างไร ? มีคำว่า "ฟรี (Free)" แล้ว ทำไมเวลานำไปใช้งานจริงไม่ได้ "ฟรี" สมชื่อ ฉะนั้นบทความนี้ เราจะพา มาเจาะลึกถึง 2 เงื่อนไขการใช้รูปแบบของ ภาพเหล่านี้กัน

บทความเกี่ยวกับ Photo อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

รูปภาพแบบ Royalty-Free ไม่ใช่สิทธิ์ที่ใช้งานฟรี 100%

บางคนเห็นคำว่า Royalty-Free อาจตีความก่อนว่า นี่คือรูปภาพที่ใช้ได้ฟรี ๆ แน่เลย คลิกขวาเซฟเลยดีกว่า ช้าก่อนอานนท์ เพราะเงื่อนไขของรูปภาพ Royalty-Free ก็คือ การซื้อลิขสิทธิ์ (Licnse) เพื่อใช้งานภาพนั้น ๆ ได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำกัดขนาดภาพที่กำหนด หากต้องใช้ภาพจำนวนมาก เว็บไซต์จำหน่ายภาพมักมีบริการเครดิต ยิ่งซื้อมาก ยิ่งถูกลง

ฉะนั้น ส่วนที่ Free ของสิทธิ์การใช้งานนี้ คือ การใช้งานที่เป็นอิสระมากกว่าสิทธิ์แบบอื่น ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ว่าเป็นรูปภาพฟรีที่ใช้ได้แบบไม่มีเงื่อนไขนะจ๊ะ

รูปภาพแบบ Right Managed สามารถเลือกใช้ ได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ

ส่วนการใช้งานภาพแบบ Right Managed คือ การซื้อภาพแบบไม่ผูกมัด ไม่ใช่ลักษณะของการขายขาด สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกใช้งานในระยะเวลาเท่าใด เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน รวมถึงเงื่อนไขการใช้งานรูปภาพ ก็มีส่วนให้ราคาของรูปนั้น ๆ แตกต่างกัน โดยแหล่งซื้อขายภาพเหล่านี้ คือ เว็บไซต์จำหน่ายภาพและสื่อต่าง ๆ เช่นเว็บไซต์ ShutterStock, iStockphoto เป็นต้น

วัตถุประสงค์การใช้งานรูปภาพแบบ Right Managed

  • Commercial Use คือ การใช้งานภาพเพื่อการค้า เชิงพาณิชย์
  • Editiorial คือ การใช้ภาพเพื่อประกอบข่าว บทความ
  • Personal Use คือ การใช้งานส่วนตัวที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เช่น ภาพประกอบสื่อต่าง ๆ ที่เป็นงานส่วนตัว

ความแตกต่างระหว่าง Royalty-Free กับ Right Managed

ความแตกต่างที่เห็นชัดเจนของ Royalty-Free และ Right Managed ก็คือ ลักษณะการซื้อขายและเงื่อนไขการใช้งาน ซึ่งทั้งสองแบบนี้ "ไม่ใช่การใช้งานภาพฟรีแบบ 100%" มีค่าใช้จ่ายแน่นอน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ใช้งาน ระยะเวลาการใช้งานว่าใช้เฉพาะช่วงเวลาสั้น ๆ หรือซื้อขาดเพื่อใช้งานแบบไม่จำกัด

Royalty-Free

Royalty-Free คือ การซื้อ License ครั้งเดียวเพื่อใช้งานภาพนั้น ๆ ได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง หรือ ซื้อขาด ส่วนเงื่อนไขการใช้ภาพจะมีอิสระ เนื่องจากข้อจำกัดในแง่ของการใช้งานมีน้อยกว่าและยืดหยุ่นกว่า ใช้งานได้กับสื่อและช่องทางที่หลากหลาย สมกับคำว่า Royalty-Free อีกทั้งยังมีวิธีการสั่งซื้อที่ง่ายกว่าสิทธิ์การใช้ภาพแบบ Right Managed บางเว็บไซต์มีแพ็กเกจเครดิตสำหรับซื้อภาพ Royalty-Free โดยเฉพาะ

Right Managed

Right Managed หรือ การขายการจัดการสิทธิ์ เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้ซื้อขาด แต่จะจ่ายเงินตามรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี และมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ขนาดของภาพที่เจ้าของภาพอนุญาตให้ผู้ซื้อใช้ (อาจไม่รวมขนาดภาพ Original 100%), บางภาพใช้ได้เฉพาะ Personal Use เท่านั้น หรือบางภาพอาจนำไปใช้ในสื่อใด ๆ ก็ได้ยกเว้นการใช้งานเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

การใช้ภาพแบบ Royalty-Free การใช้ภาพแบบ Right Managed
  • จ่ายครั้งเดียว ใช้งานภาพได้ตลอดชีพ
  • ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแพ็กเกจเครดิตที่เลือกของแต่ละเว็บไซต์
  • เงื่อนไขการใช้ภาพมีความยืดหยุ่นมากกว่า 1 ภาพสามารถใช้งานได้กับหลาย ๆ สื่อ
  • เลือกได้ว่าจะซื้อภาพเพื่อใช้งานภายในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น รายสัปดาห์หรือรายเดือน
  • ภาพ 1 ภาพ มีให้เลือกหลายราคา ตามขนาดภาพและวัตถุประสงค์ที่ใช้ภาพ
  • เงื่อนไขการใช้ภาพมีการระบุชัดเจน เช่น ใช้เพื่อประกอบข่าว, ใช้เพื่องานส่วนตัว, ใช้เพื่องานเชิงพาณิชย์

เลือกซื้อภาพแต่ละครั้ง เลือกรูปแบบไหนดี ?

แล้วจะซื้อภาพอย่างไรดี ? ให้เหมาะสมกับการใช้งานและถูกลิขสิทธิ์ นั่นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๆ ในการซื้อภาพ และจุดประสงค์ต่อไปนี้

  1. ชนิดของภาพที่ใช้ เช่น ขนาดของภาพ, สกุลไฟล์, ความคมชัด หรือ ค่า DPI ของภาพ เพราะไม่สามารถใช้ภาพขนาดเดียวกัน ความละเอียดเท่ากันในทุก ๆ สื่อได้ จึงต้องพิจารณาชนิดของภาพให้เข้ากับการใช้งานร่วมด้วย
  2. งบประมาณที่ใช้ซื้อภาพ แม้เว็บไซต์จำหน่ายภาพจะขายเป็นแพ็กเกจเครดิตก็ตาม แต่แพ็กเกจเหล่านั้นมีทั้ง Right Managed และ Royalty-Free ก็ต้องมาพิจารณาถึงงบประมาณที่มีอยู่ด้วยว่าซื้อภาพได้มากน้อยแค่ไหน และใช้งานภาพดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่
  3. สิทธิ์การใช้ภาพนั้น ๆ เพราะสิทธิ์การใช้ภาพแบบถูกลิขสิทธิ์มีให้เลือกมากมาย แต่ภาพ 1 ภาพไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกรูปแบบลิขสิทธิ์ บางภาพถูกจัดอยู่ในหมวด Editorial ใช้สำหรับรายงานข่าวเท่านั้น หรือบางภาพเป็น Exclusive พิเศษเฉพาะผู้ใช้งานบางรูปแบบก็มี

ตัวอย่างแพ็กเกจเครดิตซื้อภาพจากเว็บไซต์ ShutterStock

ตัวอย่างแพ็กเกจเครดิตซื้อภาพจากเว็บไซต์ ShutterStock
ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/pricing

แต่ถ้าใครต้องการภาพฟรีแบบถูกลิขสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องซื้อภาพที่มีมุมมองพิเศษหรือภาพ Exclusive หายาก ซึ่งมีเว็บไซต์รวมรูปภาพเหล่านี้มากมาย ส่วนใหญ่เจ้าของภาพหรือเว็บไซต์จะขอให้ผู้ใช้ทิ้งลิงก์เครดิตต้นทางไว้ให้ด้วย แต่ว่าภาพเหล่านี้จะถูกใจคุณหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่การใช้งานเลยนะ

  • เว็บไซต์ดาวน์โหลดภาพฟรี เช่น Freepik, Pxhere, Pixabay ฯลฯ
  • ภาพตามเงื่อนไข Creative Commons Licenses ของ Google
  • ภาพตามเงื่อนไข Commercial & Other Licenses ของ Google หากต้องการใช้ภาพในเชิงพาณิชย์

อ่านเพิ่มเติม : รวมเว็บไซต์รวมรูปฟรี แจกรูปฟรี ใครอยากหารูปใช้ฟรี ไม่ติดลิขสิทธิ์ ตามมาทางนี้เลย

จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการใช้ภาพทั้ง Royalty-Free และ Right Managed มีความแตกต่างกันพอสมควร ฉะนั้น ก็ควรที่จะเลือกใช้ภาพให้ถูกประเภท และซื้อสิทธิ์การใช้ภาพให้ถูกรูปแบบ แต่ถ้าใครยังคงสงสัยก็สามารถเช็คกับเว็บไซต์ขายภาพก่อนซื้อได้ว่าภาพนั้น ๆ ซื้อสิทธิ์รูปแบบไหนได้บ้าง หรือจะลองใช้ภาพฟรีถูกลิขสิทธิ์ (พร้อมให้เครดิตช่างภาพ) ก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง