Digital Transformation คืออะไร ? ต่างจาก Digitization, Digitalization อย่างไร ? พร้อมตัวอย่าง
Digital Transformation คืออะไร ?
(What is Digital Transformation ?)
ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) สำหรับคำนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ในแวดวงธุรกิจ หรือวงการไอที แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจ หรือสับสนกับความหมายที่แท้จริงของการทำ Digital Transformation ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้ไปพร้อม ๆ กันดีกว่าครับ
คำจำกัดความอย่างน่าสนใจของ Digital Transformation นั้น ในภาษาไทย สามารถแปลได้ว่า "การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล" ซึ่งมันหมายถึง กระบวนการในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้าง หรือปรับปรุงกระบวนการทำงานในธุรกิจ ปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร หรือแม้แต่การปรับปรุงประสบการณ์ และความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ หรือเพื่อให้ตอบความต้องการของตลาด เป็นการเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล
การทำ Digital Transformation นั้นจะเข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ของการดำเนินธุรกิจของแผนกงานต่าง ๆ อาทิ ฝ่ายขาย (Sales Department), ฝ่ายการตลาด (Marketing Department), ฝ่ายงานบริการลูกค้า (Customer Service Department) และฝ่ายงานอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยแนวคิดหลักของการทำ Digital Transformation คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถส่งผ่านคุณค่าไปยังลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการทำให้สินค้าราคาถูกลง คุณภาพงานบริการที่ดีขึ้น สินค้าส่งถึงมือลูกค้าเร็วขึ้น บริการหลังการขายที่ดีขึ้น และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า
จุดเริ่มต้น และจุดหมายปลายทางของการทำ Digital Transformation คือการตอบความพึงพอใจของลูกค้า
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง Digitization, Digitalization และ Digital Transformation ?
ในกระบวนการของ "การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล" นั้นมีคำศัพท์ที่น่าสนใจอยู่ 3 คำด้วยกันคือ
- Digitization (ดิจิไทเซชัน)
- Digitalization (ดิจิทัลไลเซชัน)
- Digital Transformation (ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน)
บางทีเราอาจจะเข้าใจไปว่าคำทั้ง 3 นี้มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือเป็นอย่างเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นระดับความลึกซึ้งในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
Digitization คืออะไร ?
Digitization (ดิจิไทเซชัน) คือ "การเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อก มาสู่ดิจิทัล" ถ้าใครยังจำกันได้ การทำธุรกิจในยุคก่อน ใช้การจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ลงบนแผ่นกระดาษ การเขียนลงบัญชีด้วยลายมือ และการพิมพ์ข้อมูลลงบนกระดาษ ซึ่งการเก็บข้อมูลบนแผ่นกระดาษ เราเรียกว่าเป็นการเก็บข้อมูลแบบ อะนาล็อก (Analog) และในกรณีที่ต้องการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือต้องการแชร์ข้อมูล ก็จะต้องทำบนเอกสารกระดาษ ต้องทำสำเนาด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร หรือการส่งแฟกซ์
เมื่อถึงยุคที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้องค์กรธุรกิจจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลบนแผ่นกระดาษ กลายมาเป็นไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ กระบวนการนี้เองที่เรียกว่าเป็นการทำ Digitization ซึ่งก็คือการแปลงจากข้อมูลที่อยู่บนแผ่นกระดาษ ให้กลายเป็นไฟล์เอกสารจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือก็คือการเปลี่ยนจาก อะนาล็อก เป็น ดิจิทัล นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : มองหา โปรแกรมจัดการเอกสาร แก้ไขข้อความ (Document Management and Text Editor Software) ที่ตรงกับความต้องการ ที่นี่
Digitalization คืออะไร ?
Digitalization (ดิจิทัลไลเซชัน) คือ "การเอาข้อมูลดิจิทัล มาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น" หากให้ขยายความคือ กระบวนการในการเอาข้อมูลที่ผ่านการ ดิจิทัลไลเซชัน เรียบร้อยแล้ว มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดวิธีใหม่ ๆ ในการทำงานที่ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการทำ Digitalization (ดิจิทัลไลเซชัน) แนวคิดหลักคือการทำให้พนักงานที่ต้องการข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น เรียกใช้งานข้อมูลได้สะดวกขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อที่ต้องการ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการร้องขอข้อมูลที่ซับซ้อน และไม่ต้องรอคอยข้อมูลนาน ๆ
ลองคิดถึงเจ้าหน้าที่ ฝ่ายงานบริการลูกค้า ที่อาจจะประจำอยู่ในร้านค้าปลีก หรืออยู่ในหน้างานภาคสนาม หรือพนักงาน Call Center การทำ ดิจิทัลไลเซชัน จะเปลี่ยนโฉมหน้างานบริการลูกค้าไปจากเดิม ด้วยการทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
ถึงแม้ว่าการทำ ดิจิทัลไลเซชัน จะไม่ได้ทำรูปแบบงานให้บริการลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมาย แต่งานให้บริการลูกค้าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการทำงานในแบบอะนาล็อก เปลี่ยนจากการที่ต้องไล่ค้นหาประวัติของลูกค้าบนเอกสารแผ่นกระดาษ มาเป็นการคลิกเมาส์เพียงไม่กี่ครั้ง เพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญบนหน้าคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอของ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
Digital Transformation
Digital Transformation คือ "เพิ่มคุณค่าการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในทุกมิติ" ในรูปแบบนี้จะ เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ และในบางกรณีได้สร้างธุรกิจรูปใหม่ขึ้นมา และเพื่อให้การทำ Digital Transformation เกิดประโยชน์สูงสุด ธุรกิจต้องมองย้อนกลับมาตรวจสอบกระบวนการทำธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานภายในองค์กร ไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ทั้งในแบบออนไลน์ และการพบปะแบบที่ต้องเจอตัวกับลูกค้าจริง ๆ
การทำ Digital Transformation ต้องมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า เราจะปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพในทำธุรกิจที่ทิ้งห่างจากคู่แข่ง หรือเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณที่ดีขึ้น นำเสนอสินค้า และบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้าจริง ๆ
หลักใหญ่ใจความสำคัญของการทำ Digital Transformation คือการเข้าใจถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลที่องค์กรธุรกิจมีอยู่ อาทิ ซอฟต์แวร์ (Software), ฮาร์ดแวร์ (Hardware) อุปกรณ์พกพา บริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่บริษัทของเราใช้งาน หรือใช้เพื่อให้บริการลูกค้า
และไม่ใช่เพียงแค่การตั้งคำถามว่า "เราจะทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ให้เสร็จเร็วขึ้นได้อย่างไร ?" แต่คำถามที่ดีควรจะเป็น "เทคโนโลยีดิจิทัลที่เรามีอยู่ทำอะไรได้บ้าง ? เราจะปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจของเราในรูปแบบใด ? เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า"
และเพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน เลยขอนำเสนอเรื่องราวของ 6 องค์กรธุรกิจระดับโลก และ 3 องค์กรธุรกิจไทย ที่แสวงหาโอกาส และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการทำ Digital Transformation เพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทางธุรกิจ ยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า ช่วยสร้างรายได้ และผลตอบแทนให้กับธุรกิจอย่างงดงาม
ตัวอย่างธุรกิจต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำ Digital Transformation
Netflix
Netflix เป็นตัวอ
ย่างที่ดีของการพลิกโมเดลธุรกิจ ให้เป็นบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักด้วยการทำ Digital Transformation โดยที่จุดเริ่มต้นของ Netflix เป็นธุรกิจที่ให้บริการส่งแผ่นวิดีโอให้ผู้เช่าผ่านทางไปรษณีย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปร้านเช่าวิดีโอ ทำให้ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปในเวลาต่อมา ด้วยการเชื่อมโยงสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่มีความเร็วสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งในสเกลระดับใหญ่ และ Netflix ก็คว้าโอกาสนั้นไว้ ทำให้ในปัจจุบัน ธุรกิจของ Netflix ล้ำหน้ากว่าสถานีโทรทัศน์แบบดั้งเดิม รวมถึงเอาชนะผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี และยังกินส่วนแบ่งของสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ ด้วยการนำเสนอไลบรารี่ของ วิดีโอแบบเลือกดูเนื้อหาตามที่ต้องการ (On-Demand Video) ในราคาที่แข่งขันได้ในตลาด
การทำ Digitization (ดิจิไทเซชัน) เปลี่ยนจากสื่อบันทึกในรูปแบบแผ่น ให้กลายเป็นไฟล์วิดีโอ ไม่เพียงทำให้ Netflix สามารส่งตรงบริการวิดีโอสตรีมมิ่งสู่ผู้ชม แต่ยังทำให้สามารถเก็บรวบรวม ข้อมูลเชิงลึก (Insight Data) เกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพสื่อเพื่อความบันเทิงของลูกค้าทั่วโลก รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในการใช้งานแพลตฟอร์มของ Netflix เพื่อนำไปปรับปรุงหน้าตาของ Netflix ให้ใช้งานง่ายขึ้น เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้น
รวมถึง Netflix ยังนำข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยมความชอบของผู้ชม ไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างภาพยนตร์ และซีรีส์ในสตูดิโอของทาง Netflix เอง ทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการเอาแนวคิด Digital Transformation ไปใช้งานจริง ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า ตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
Capital One
Capital One เป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโลโยโลยีใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้า โดยการเป็นธุรกิจธนาคารรายแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) ของ Amazon Alexa มาสร้างนวัตกรรม ในรูปแบบของการทำธุรกรรมผ่านการสั่งงานด้วยเสียง และแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพาของ Capital One ยังเป็นแอปพลิเคชันของธนาคารตัวแรกที่รองรับการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานผ่านระบบ Touch ID ของ Apple อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีเยี่ยม เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ
Hasbro
Hasbro เป็นบริษัทผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 5,500 คน และมีรายได้ต่อปีสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท) โดยที่ Hasbro ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) เปลี่ยนจากการโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าวัยเด็ก มาโฟกัสที่กลุ่มพ่อแม่ที่มีส่วนสำคัญในการเลือกซื้อของเล่นให้เด็ก ๆ
ทำให้เกิดแคมแปญการตลาดจำนวนมาก ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าที่เก็บรวบรวมมาได้จากโซเชียลมีเดีย และข้อมูลชุดเดียวกันทำให้เข้าใจความต้องการพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น ทำให้เกิดการนำเสนอขายเกมส่งเสริมพัฒนาเด็กที่ตรงตามความต้องการของผู้ปกครอง และช่วยให้เข้าถึงช่องทางสั่งซื้อที่หลากหลาย และสะดวกที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน
ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำเสนอแคมแปญการตลาดที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึก ทำให้ยอดขายของ Hasbro โตขึ้นปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) และราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 36 ดอลลาร์ เป็น 109 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 202%
Honeywell
Honeywell เป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ Fortune 100 และประกอบธุรกิจอยู่ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจอวกาศ (Aerospace) และเทคโนโลยีการก่อสร้าง และในช่วงแรกของการทำ Digital Transformation บริษัท Honeywell มีการตัดทิ้งบางธุรกิจที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และเพื่อให้ง่ายกับประยุกต์ใช้กลยุทธ์เชิงดิจิทัล
ความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มคนทำงานด้าน Digital Transformation ขึ้นเป็นการเฉพาะในบริษัท รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งาน อาทิ
- อุปกรณ์ IoT (Internet of Things Devices)
- การนำเสนอสินค้าที่ตรงความต้องการของลูกค้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก
- กระบวนการควบคุมการผลิตในระดับก้าวหน้า ทำให้การผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ได้คือ รายได้ของ Honeywell เติบโตจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เป็น 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.397 ล้านล้านบาท) และในปี 2018 และราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิม 95 ดอลลาร์ เป็น 174 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นจากเดิม 83%
McDonald
หนึ่งในร้านอาหารฟาสต์ฟูดส์ที่คนทั่วโลกรู้จัก โดยที่หน่วยธุรกิจของ McDonald ในประเทศอิตาลีมีความมุ่งมั่นในการยกระดับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Process) และจะโยกย้ายกระบวนการประสานงานกับ Supplier ทุกรายให้สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้งหมด
การตัดสินใจในการใช้งาน Portal บนระบบออนไลน์เพื่อรวมศูนย์การติดต่อประสานงานทั้งหมด ทั้งการประสานงานระหว่างพนักงานกันเอง และการประสานงานกับ Supplier ทุกราย รวมถึงการปรับเปลี่ยนเอกสารกระดาษ ให้เป็นเอกสารดิจิทัลทั้งหมด ทำให้มี Supplier กว่า 400 รายลงทะเบียนเข้าใช้งาน Portal ของ McDonald เพื่อการประสานงานในทุก ๆ กิจกรรมของธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องการผลิตอาหาร การจัดทำโปรโมชัน การก่อสร้างปรับปรุงร้าน
การประยุกต์ใช้ระบบ e-Procurement เพื่อจัดการทุกสิ่งที่เกี่ยวกับกิจการของ McDonald ในประเทศอิตาลี จัดเป็นการทำ Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และเหมาะที่จะนำไปใช้งานกับกิจการในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
Microsoft
Microsoft เป็นผู้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 166,000 คน และบริษัทได้วางกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ อาทิ Apple, Amazon และ Google โดยมีเป้าหมายหลักที่การสร้างธุรกิจการให้บริการบนระบบคลาวด์ ในรูปแบบของการให้บริการ โปรแกรม Microsoft Office บนระบบอินเทอร์เน็ตคลาวด์ รวมถึงโปรแกรมและบริการอื่น ๆ ของ Microsoft ที่สามารถเข้าใช้งานได้ง่าย ทั้งสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และผู้ใช้งานในองค์กรธุรกิจ
และด้วยบริการคลาวด์คอมพิวติ้งในรูปแบบ Microsoft Azure ทำให้ Microsoft กลายเป็นผู้ให้บริการด้านคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และยังได้มีการเสริมความแข็งแกร่งการให้บริการบนระบบคลาวด์ด้วยการประสานความร่วมมือกับ Partner รายสำคัญอย่าง SAP, VMware และ Oracle
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาหุ้นของ Microsoft เพิ่มขึ้นจาก 38 ดอลลาร์ ในปี 2014 เป็นมูลค่าเกินกว่า 136 ดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 257%) และมูลค่าการตลาดที่สูงเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32.5 ล้านล้านบาท)
ตัวอย่างธุรกิจในไทย ที่ประสบความสำเร็จจากการทำ Digital Transformation
THRE (ไทยรี)
บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยรี (THRE) เป็นธุรกิจการประกันภัยรายแรกของอาเซียนที่ได้นำเทคโนโลยี สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ของ IBM มาประยุกต์ใช้งานเกี่ยวกับการทำสัญญาประกันภัย เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่ข้อมูลต่าง ๆ แยกกันเก็บอยู่คนละที่ทั้งในรูปแบบของเอกสารกระดาษ หรือเก็บไว้ในอีเมล ไม่ได้ลิงก์กับระบบงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ถูกต้อง ข้อมูลหาย เอกสารสูญหาย
โดยแพลตฟอร์ม Smart Contract ของ IBM ช่วยให้ลูกค้าของไทยรีสามารถทำธุรกรรมได้อย่างโปร่งใส และรวดเร็วยิ่งขึ้น และด้วยความที่ระบบมีความปลอดภัยสูง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงจากการปลอมแปลงเอกสาร สามารถตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาได้อย่างโปร่งใส และยังช่วยลดความผิดพลาดจากการเก็บข้อมูลแบบเดิม ๆ อีกด้วย โดยที่ในแต่ละปีมีการทำสัญญามากกว่า 10,000 ฉบับ
Raksa (รักษา)
แอปพลิเคชัน Raksa (รักษา) เป็นแอปพลิเคชันรายแรก ๆ ในประเทศไทยที่เปิดให้บริการด้าน Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) โมเดลธุรกิจใหม่และน่าสนใจ ที่ใช้ประโยชน์จากการสื่อสารอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาอย่าง แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ที่มีความเร็วมากพอสำหรับการสื่อสารในรูปแบบวิดีโอคอล (Video Call) ได้อย่างราบรื่น โดยแอปพลิเคชัน Raksa เปิดช่องทางให้คนที่มีอาการเจ็บป่วย ได้พบแพทย์ รับคำปรึกษากับแพทย์ผ่านบริการวิดีโอคอล ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล พบหมอได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และในกรณีที่ต้องมีการจ่ายยา ก็มีบริการจัดส่งยาถึงที่พักของเราอีกด้วย
ทำให้แอปพลิเคชัน Raksa เป็นผู้บุกเบิกโมเดลธุรกิจใหม่ในประเทศไทย ที่อาศัยประโยชน์จากความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศ บวกกับเทคโนโลยีกล้องของอุปกรณ์พกพาที่มีความคมชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และการพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอลก็เหมาะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด 19 ที่ผลักดันให้ผู้คนต้อง ทำงานจากที่บ้าน หรือ WFH จะเดินทางไปคลีนิกหรือโรงพยาบาลก็อาจติดโควิดกลับมา การพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอลก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
Flash Express (แฟลช เอ็กซ์เพรส)
ออนไลน์ช้อปปิ้งเป็นเทรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในโลกยุคใหม่ ที่ไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ต้องออกจากที่พัก ก็หาซื้อของที่ต้องการได้อย่างไม่ยากเย็น ทำให้มีผู้บริการรับส่งพัสดุเกิดขึ้นมากมายหลายเจ้า และ Flash Express ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายสำคัญที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาด Flash Express ก็ได้มีการนำระบบ POI เพื่อการเก็บพิกัดเลขที่บ้านมาใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาที่การจัดเรียงเลขที่บ้านของประเทศไทย ไม่ได้เรียงกันอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การตามหาเลขที่บ้านทำได้ยาก และเพื่อแก้ปัญหานี้ ทุกครั้งที่มีการส่งสินค้า ก็จะมีระบบ POI ทำหน้าที่เก็บพิกัดของบ้านแต่ละหลังโดยอัตโนมัติ เพื่อนำมาใช้วางแผนเส้นทางในการจัดส่งได้ดีขึ้น
ผลลัพธ์ที่ได้คือ จากที่แต่ก่อน การเดินทาง 300 - 400 กิโลเมตร จะส่งสินค้าได้เพียง 2 - 3 ชิ้นต่อวัน แต่เมื่อมีระบบ POI การเดินทางแค่เพียง 30 - 50 กิโลเมตร ก็สามารถส่งสินค้าได้ 100 - 400 ชิ้นต่อวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก
และอีกระบบงานหนึ่งที่ทาง Flash Express นำมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผลคือ การนำเครื่องจักรมาช่วยในการคัดแยกสินค้า ซึ่งเดิมทีแต่ละคลังสินค้าต้องใช้พนักงาน 1,000 คน แต่เมื่อมีการลงทุนเครื่องจักร 1 ตัว พร้อมระบบซอฟต์แวร์ที่ช่วยคัดแยกสินค้า ทำให้สามารถคัดแยกสินค้าได้ถึง 1 แสนชิ้นต่อชั่วโมง ทำให้จัดส่งได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดความผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ (Human Error) ในการคัดแยกสินค้าด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม : ตรวจสอบสถานะการส่งสินค้าของ Flash Express หรือผู้ให้บริการขนส่งรายอื่น ๆ ได้ที่นี่