สตาร์ทอัปยูนิคอร์น คืออะไร ? (What is Startup Unicorn ?)
สตาร์ทอัปยูนิคอร์น คืออะไร ? (What is Startup Unicorn ?)
คนรุ่นใหม่ที่เริ่มก้าวเข้าสู่ชีวิตทำงาน หลายคนน่าจะเคยคิดมีความฝันอยากเริ่มธุรกิจ "Startup (สตาร์ตอัป)" เป็นของตัวเองขึ้นมาบ้าง และปฏิเสธไม่ได้ว่า "เงินทอง" และ "ชื่อเสียง" เป็นพลังที่สามารถผลักดันให้เราอยากเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งธุรกิจ Startup ก็ตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้เป็นอย่างดี
เราอาจจะติดภาพลักษณ์จากภาพยนตร์ว่า Startup ที่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว คุณต้องมีโรงรถอยู่แถวซิลิคอนแวลลีย์ถึงจะเริ่มทำธุรกิจ Startup ได้ แต่ในความจริงเราสามารถเริ่มมันที่ไหนก็ได้นะ ในประเทศไทยเองก็มี Startup หลายตัวที่ประสบความสำเร็จนะ เช่น Bitkub, Finnomena, Wongnai ฯลฯ
ไม่ว่าคนที่เริ่มทำ ธุรกิจ Startup จะต้องมีแนวคิดถึงการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ หรือต้องการทำธุรกิจเพื่อสานความฝันของตนเอง ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ธุรกิจ Startup ได้สร้างบางสิ่งที่สังคมมีความต้องการ แต่ไม่เคยมีใครทำมันขึ้นมาก่อน สำหรับมุมของนักลงทุน เสน่ห์ของ ธุรกิจ Startup ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยราคาหุ้นในช่วงเริ่มต้นที่ไม่แพง แต่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงคืนกลับมาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแบบไหนถึงเรียกว่า "ธุรกิจ Startup" แล้วคำที่เหมือนมาจากเทพนิยายอย่าง "ยูนิคอร์น (Unicorn)" นั้นมันหมายถึงอะไร มาทำความรู้จักกับสองคำนี้กันเถอะ
ธุรกิจ Startup คืออะไร ?
Startup จัดเป็นบริษัท หรือธุรกิจ อายุน้อยที่ถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อพัฒนาสินค้า, หรือบริการ รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อนำเสนอสู่ตลาด โดยต้องเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้มาใช้งาน และไม่มีสิ่งอื่นที่ทดแทนได้
ดังนั้น "นวัตกรรม (Innovation)" จึงเป็นรากฐานสำคัญของ ธุรกิจ Startup นำเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์/บริการที่มีอยู่เดิม หรือสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนขึ้นมา เพื่อ "ก่อกวน (Disrupt)" รูปแบบอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ด้วยวิธีคิด และแนวทางธุรกิจแบบใหม่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Startup จำนวนมากเป็นที่รู้จักกันในฐานะ "นักก่อกวน" (Disruptor)
ธุรกิจ Startup ไม่ใช่สิ่งใหม่ จริงๆ แล้ว มันมีมานานมากแล้ว บริการหลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบันนี้ก็กำเนิดขึ้นมาจากการเป็น ธุรกิจ Startup อย่างเช่น Facebook, Netflix, Apple, Google, Grab ฯลฯ
รูปแบบการทำงานของธุรกิจ Startup
มองผิวเผิน การทำงานของ ธุรกิจ Startup ก็ไม่ได้มีอะไรที่ แตกต่างออกไปจากบริษัทปกติทั่วๆ ไป คือ มีพนักงานที่ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อ แต่ที่ทำให้มันแตกต่างไปจากธุรกิจธรรมดา คือ "รูปแบบการทำงาน" นั่นเอง
บริษัททั่วไปจะทำซ้ำสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การเปิดร้านอาหาร รูปแบบธุรกิจดั้งเดิม คือ เมื่อร้านแรกประสบความสำเร็จแล้ว คุณก็เริ่มขยายสาขา หรือทำแฟรนไชส์ แต่เมื่อเป็น ธุรกิจ Startup แล้ว เขาก็จะคิดใหม่ ทำใหม่ ไปเลย
ขอยกตัวอย่าง เช่น Food Startup อย่าง "Blue Apron" หรือ "Dinnerly" (ทั้ง 2 ไม่ได้มีให้บริการในประเทศไทย) เขาทำโมเดลธุรกิจออกมาเป็น ขายอาหารเหมือนร้านอาหารเลย แต่ว่าอาหารจะถูกส่งให้เป็นชุดประกอบอาหารสำเร็จรูป ที่ประกอบไปด้วยวัตถุดิบ, ขั้นตอนการทำ และเคล็ดลับจากเชฟผู้เชี่ยวชาญ คนที่อยากรับประทานอาหาร ก็สามารถสั่งเพื่อส่งเดลิเวอรี่ไปทำเองที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้จำนวนหลายล้านคน สูงกว่าปริมาณลูกค้าที่มาทานที่ร้านกว่ามาก และเมื่อทางร้านไม่ใช่คนปรุงอาหารเอง จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนจานที่สามารถเสิร์ฟอีกด้วย
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ ธุรกิจ Startup แตกต่างจากธุรกิจธรรมดา คือ ความเร็วในการเติบโตของธุรกิจ โดยเป้าหมายของ ธุรกิจ Startup คือ การทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีไอเดียแล้วจะรีบทำให้เป็นรูปเป็นร่างให้เร็วที่สุด ส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจ Startup จะเริ่มจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ขึ้นมาก่อน ซึ่งเรียกว่า Minimal viable product (MVP) จากนั้นก็ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อขัดเกลาอย่างต่อเนื่องจนกว่าตัวผลิตภัณฑ์จะพร้อมเปิดตัวในตลาด
ในระหว่างที่กำลังขัดเกลาผลิตภัณฑ์อยู่นั้น ธุรกิจ Startup ก็จะเริ่มมองหาช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปให้กว้างขึ้นไปอีก ควบคู่ไปด้วย เพื่อขโมยพื้นที่ในตลาดให้ได้มามากที่สุด ซึ่งมันจะช่วยให้ ธุรกิจ Startup สามารถหาเงินมาลงทุนในตัวผลิตผลิตภัณฑ์ และสร้างฐานลูกค้าให้สูงยิ่งกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ ธุรกิจ Startup คือ การเปิดตัวเข้าสู่ตลาดหุ้นให้สาธารณชนสามารถมีส่วนร่วมลงทุนได้ จุดนี้ขออธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย
เผื่อใครไม่เข้าใจว่าทำมการเปิดตัวในตลาดหุ้นถึงเป็นโอกาสสำคัญ จะขอยกตัวอย่างพื้นฐานง่าย ๆ ลองนึกภาพว่ามี ธุรกิจ Startup A ก่อตั้งมา มีนักลงทุนให้ความสนใจระดมทุนให้จนติดตลาด โดยลงทุนไป 100,000,000 บาท
และเมื่อเวลาครึ่งปีผ่านไป ธุรกิจ Startup ประสบความสำเร็จในการ Disrupt ตลาด มีลูกค้าใช้บริการมากมายกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ดูผลประกอบการ และอัตราการเติบโต จนมีการประเมินมูลค่าบริษัท 4,000,000,000 บาท (4 พันล้านบาท) เมื่อเปิดตัวเข้าสู่ตลาดหุ้น นักลงทุนย่อมอยากได้หุ้นของ Startup แห่งนี้
แล้วหุ้นเหล่านี้จะอยู่ในกำมือของใครล่ะ ? ส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของ ธุรกิจ Startup กับนักลงทุนนั่นเอง พวกเขาก็จะสามารถขายหุ้นที่มีอยู่ในมือออกไปบางส่วน ในราคาที่สูงกว่าเงินลงทุนในช่วงแรกหลายเท่า เพื่อทำกำไร ในวงการ ธุรกิจ Startup เพื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้ได้ จะเรียกกันว่า "Exit"
ธุรกิจ Startup เอาเงินจากไหนมาลงทุน ?
อย่างที่ทราบกันว่า Startup จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลในช่วงเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์, ค่าประชาสัมพันธ์, ค่าการตลาด ฯลฯ บางคนจึงอาจคิดว่า จะเริ่มทำ Startup ได้ต้องเป็นคนรวยอยู่แล้วเท่านั้น อันนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไปนะ มันอาจจะมีส่วนอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้นที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นได้ง่ายกว่าคนอื่นนิดหน่อย แต่เงินลงทุนที่ต้องใช้จริง ๆ มันเยอะเกินกว่าที่คนเพียงไม่กี่คนจะ "จ่าย" ไหวนะ นอกเสียจากว่า คุณจะเป็นทายาทของเจ้าสัวระดับหมื่นล้าน ที่มีเงินหลักร้อยล้าน พันล้านให้คุณใช้ลงทุนได้
โดยปกติแล้ว ธุรกิจ Startup จะหาเงินผ่านการระดมเงินลงทุนหลายต่อหลายครั้ง สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
- Bootstrapping : เป็นการระดมทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ จากผู้ก่อตั้ง, เพื่อนร่วมอุดมการณ์ และครอบครัว
- Seed Funding : นักลงทุนเงินหนา ที่ชื่นชอบไอเดียของคุณ มองว่ามันเป็นไปได้ และมีศักยภาพในการเติบโตสูง จะตัดสินใจเสี่ยงลงทุนให้กับธุรกิจของคุณ เรียกนักลงทุนกลุ่มนี้ว่า Angel investor
- Series A, B, C และ D : เมื่อ ธุรกิจ Startup ของคุณเริ่มเป็นเป็นที่รู้จัก และสั่งสมชื่อเสียงได้มากพอ คุณจะมีโอกาสเข้าร่วมระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่พร้อมลงทุนให้ Startup ของคุณในระดับร้อยล้าน ถึงระดับพันล้าน เรียกนักลงทุนกลุ่มนี้ว่า Venture capital
- Public Company : นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการระดมเงินทุนครั้งสุดท้าย คือ ตัว ธุรกิจ Startup ตัดสินใจที่จะแปลงตัวเองเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ระดมเงินเพิ่มจากการขายหุ้น IPO แก่ผู้ที่สนใจนั่นเอง
กรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) Facebook ได้เริ่มขอระดมทุนจาก Angel investor เป็นครั้งแรก ในตอนนั้นบริษัท Facebook มีมูลค่าการประเมินอยู่ที่ $4,900,000 (ประมาณ 163,802,100 บาท)
Peter Thiel นักลงทุนแบบ Angel investor ได้ตัดสินใจลงทุนไป $500,000 (ประมาณ 16,705,000 บาท) เพื่อซื้อหุ้น Facebook ไปเป็นสัดส่วน 10.2% และรับตำแหน่งบอร์ดบริหาร
ผ่านไปเพียง 8 ปี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2012 มูลค่าของบริษัท Facebook ได้เติบโตไปแตะ $10,000,000,000 มูลค่าหุ้น 10.2% ที่เขาลงทุนไป $500,000 ได้กลายเป็นเงินมูลค่าสูงถึง $102,000,000 (ประมาณ 3,407,820,000 บาท) หากเขาขายหุ้นออกไป จะสามารถทำกำไรได้มากถึง 20,300% ต่อหุ้น เลยทีเดียว
ธุรกิจ Unicorn Startup คืออะไร ?
ในโลกของ ธุรกิจ Startup การที่ได้ชื่อว่าเป็น "ธุรกิจ Unicorn Startup" หรือ "ธุรกิจสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์น" เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ ถือเป็นหนึ่งในความฝันของคนทำ Startup เลยล่ะ โดยเงื่อนไขในการที่จะได้รับชื่อว่าเป็น Unicorn Startup นั้นมีเพียงเงื่อนไขเดียวเลย คือ บริษัทต้องได้รับการประเมินให้มีมูลค่ามากกว่า $1,000,000,000 (ประมาณ 33,270,000,000 บาท)
และเมื่อได้เป็น ธุรกิจ Unicorn Startup สมดังเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้แล้ว จริงๆ มันก็ยังมีเป้าหมายถัดไป ที่สูงขึ้นไปอีกหลายระดับ นั่นก็คือ การได้เป็น
Decacorn Startup
ที่เป็นชื่อเรียกของ สัตว์ในเทพนิยายที่เหมือนกับยูนิคอร์น แต่มีจำนวนเขาบนหัวมากกว่า ซึ่งการจะได้รับชื่อนี้ บริษัทต้องได้รับการประเมินให้มีมูลค่ามากกว่า $10,000,000,000 (หรือ ประมาณ 332,900,000,000 บาท)
Hectocorn Startup
ในปัจจุบันนี้ (ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)) มีบริษัทแค่เพียงสองแห่งเท่านั้นที่อยู่ในระดับนี้ คือ Bytedance เจ้าของแอปพลิเคชัน Tiktok และ SpaceX ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นั่นเอง
ซึ่งการที่จะได้รับชื่อนี้ บริษัทต้องได้รับการประเมินให้มีมูลค่ามากกว่า $100,000,000,000 (หรือ ประมาณ 3,329,000,000,000 บาท)
ภาพจาก : https://www.darrenwinters./investing-in-startup-unicorns/
ที่มาของคำว่า Unicorn Startup
Aileen Lee นักลงทุนผู้ก่อตั้งบริษัท Cowboy Ventures เป็นคนแรกที่หยิบคำว่า Unicorn มาใช้ในการพูดถึงธุรกิจ Startup โดยปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความ "Welcome To The Unicorn Club: Learning From Billion-Dollar Startups" (ยินดีต้อนรับสู่ยูนิคอร์นคลับ: เรียนรู้จากสตาร์ตอัประดับพันล้าน) ที่เธอได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Techcrunch
โดย Aileen Lee ได้นิยามว่า Unicorn หมายถึง ธุรกิจ Startup ที่สามารถเติบโตจนมีมูลค่าสูงกว่า $1,000,000,000 ได้สำเร็จ โดยเหตุผลที่เธอเลือกคำนี้มาใช้ ก็เพราะว่า ธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพเติบโตได้ถึงระดับนี้ได้นั้น หายากเหมือนกับสัตว์ในเทพนิยายอย่างม้า Unicorn
จากการสำรวจของ CBINSIGHTS ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) พบว่าทั่วโลกมีบริษัทที่อยู่ใน Unicorn Club เพียง 842 แห่งเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยก็มี Startup ระดับ Unicorn อยู่ 3 แห่ง คือ
- Flash Group : เจ้าของบริการส่งของ Flash Express เป็น Unicorn รายแรกของประเทศ
- Ascend Money : ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล อย่าง True Money เป็นรายที่สอง
- Bitkub : เว็บไซต์ที่ให้บริการเทรดเหรียญดิจิทัลออนไลน์ ที่มูลค่าบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็น Unicorn ได้สำเร็จ หลังจากที่กลุ่มไทยพาณิชย์ SCBX ได้เข้าซื้อหุ้น
ภาพจาก : https://www.cbinsights.com/research/unicorn-startup-market-map/