Social Media และ Social Network คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
Social Media และ Social Network คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
คำว่า โซเชียลมีเดีย (Social Media) และ โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) เป็นสองคำที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นผ่านตา แต่บางคนคงสงสัยกันว่า แล้วสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร แล้วเฟซบุ๊ค (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เล่นกันอยู่ทุกวันนี้เรียกว่าอะไรกัน ? บทความนี้ เราจะพาคุณมาดูทั้งความหมาย และความแตกต่างของทั้งสองคำนี้กัน
- Cyberbullying คืออะไร ? รู้ได้ไงว่ากำลังโดนกลั่นแกล้งอยู่ ? พร้อมวิธีรับมือ
- อาชีพ Influencer ดีจริงหรือไม่ ? ดู 7 ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงก่อนเป็น
- Reels กับ Stories คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ? มีตารางเปรียบเทียบ
- Comment Marketing คืออะไร ? รู้จักการตลาดแบบปลิง และสิ่งที่ควร-ไม่ควรทำ
- 7 ผลเสียต่อสุขภาพจิต จากการใช้งาน Social Media เป็นประจำ
โซเชียลมีเดีย คืออะไร ?
(What is Social Media ?)
โซเชียลมีเดีย (Social Media) คือ แพลตฟอร์มสำหรับสร้างชุมชนเสมือนบนโลกออนไลน์ เป็นแหล่งรวมผู้ใช้งานเข้ามาประกอบกิจกรรมบนโลกออนไลน์ และสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ หรือตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันโซเชียลฯ ที่เราใช้งานกันอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวัน เช่น
- YouTube
- TikTok
- Threads
- และอื่นๆ อีกมากมาย
ภาพจาก : https://pixabay.com/photos/media-social-media-apps-998990/
ในขณะที่แพลตฟอร์มแชท หรือพูดคุย ชื่อดัง อย่าง LINE, WhatsApp, Telegram นั้น ในปัจจุบันนี้ ก็ถือว่าเป็น Social Media ประเภทหนึ่ง เพราะคู่สนทนาของแต่ละคนในแอปพลิเคชัน บางครั้งก็ไม่ใช่ญาติพี่น้อง เพื่อนหรือคนรัก แต่เป็นบุคคลที่ติดต่อมีจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น ติดต่อเรื่องการทำงาน พูดคุยในเรื่องราว ความสนใจที่มีเหมือน ๆ กัน ฯลฯ
โซเชียลเน็ตเวิร์ก คืออะไร ?
(What is Social Network ?)
ส่วนความหมายของคำว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ซึ่งสำหรับคำนี้นั้น จริง ๆ แล้วเราควรจะเรียกมันว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้ง (Social Networking) มากกว่า เพราะว่ามันคือ กระบวนการสร้าง, ดูแล, ดำเนินการ หรือการกระทำใด ๆ บนชุมชนเสมือนในโลกออนไลน์ รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ใช้งานสังคมหนึ่งร่วมกัน นั่นก็คือพฤติกรรม กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั่นเอง
ในที่นี้ขอ ยกตัวอย่าง บนแพลตฟอร์ม Facebook ซึ่งมีฟีเจอร์หลักอย่างการใช้งานพูดคุย โพสต์รูปภาพ วิดีโอได้เหมือน ๆ กัน แต่จุดประสงค์การใช้งานแต่ละรูปแบบก็จะแตกต่างกัน อย่างเช่น Facebook ส่วนตัวที่รองรับเพื่อนได้ไม่เกิน 5,000 คน สำหรับอัปเดตเรื่องราวส่วนตัว โพสต์ และแชร์สิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ ในขณะที่ Facebook แฟนเพจที่เหมาะสำหรับการใช้งานระดับองค์กร ธุรกิจ รองรับสมาชิกได้ถึงหลักล้านเลย แน่นอนว่าคอนเทนต์ก็จะแตกต่างจาก Facebook ส่วนตัว
หรือแม้แต่ Instagram จากเดิมที่เป็น แพลตฟอร์มที่ ลงรูปภาพอย่างเดียว ก็ปรับเปลี่ยนให้ใช้งานร่วมกับวิดีโอได้ มีฟีเจอร์ Story และ Reel เอื้อต่อผู้ใช้งานที่เน้นด้านวิดีโอเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ส่วนของการซื้อ-ขายสินค้า Instagram ก็พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้ใช้งานที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
โซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
(How did Social Media happen ?)
ถึงแม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ต่าง ๆ มากมาย แต่หลาย ๆ แพลตฟอร์มก็ล้มหายตายไปจากวงการออนไลน์ หรือถูกซื้อ ควบรวมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ก็มี แล้วสื่อโซเชียลเจ้าใหญ่ ๆ ก่อให้เกิดเครือข่าย หรือ เน็ตเวิร์ก (Network) ของคนออนไลน์ ให้เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไรบ้าง ?
เหตุผลแรก ก็คือ อัลกอริธึมของแพลตฟอร์มนั้น ๆ จะรับข้อมูลจากการสมัครสมาชิก เช่น เพศ (Gender), อายุ (Age), เชื้อชาติ (Nationality), ความเชื่อทางศาสนา (Religious Beliefs), ความสนใจ (Interest), งานอดิเรก (Hobby), สถานศึกษา (Education Background) และอื่นๆ
ในกรณีนี้อย่างเช่น ระบบมันจะดูจากผู้ใช้งานว่า จบการศึกษาจากโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ใดมาบ้าง หรือแม้แต่ สถานที่ทำงาน (Workplace) ฯลฯ จากนั้น ระบบจะทำการจับกลุ่มด้วยข้อมูลของสมาชิกที่มีเหมือน ๆ กัน นอกจากนั้น หากเพิ่มเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ระบบก็ทำการค้นหาเพื่อนของเพื่อนเพิ่มเติม เผื่อเป็นผู้คนที่คุณอาจรู้จักนั่นเอง
อีกเหตุผลสำคัญก็คือ การใช้งานที่ง่าย อย่างเช่นทวิตเตอร์ที่แค่ทวีตข้อความก็สามารถส่งต่อข่าวสารได้แล้ว รวมถึงการรีทวีต (Retweet) ที่ง่าย ส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งในยุคที่เน้นการสื่อสารด้วยวิดีโอ จึงทำให้มีแพลตฟอร์มทางเลือกเพิ่มเติม เช่น ติ๊กต่อก (TikTok) ที่เป็นการรวมคลิปวิดีโอสั้น ๆ แต่สร้างความตื่นตาให้ผู้ใช้งาน และรวมกลุ่มจนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นมาได้
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/solen-feyissa/50179272367
นอกจากการใช้งานโซเชียลมีเดียในชีวิตส่วนตัวแล้ว โซเชียลมีเดียในภาคธุรกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากชีวิตประจำวันต้องเกี่ยวเนื่องกับสินค้าและบริการอยู่แล้ว ฉะนั้น การแสดงผลของเนื้อหา (Content) บนแพลตฟอร์มแต่ละแบบจะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และนั่นทำให้กิจกรรมบนโซเชียลมีเดียมีเพิ่มเติม เช่น การกดไลก์โพสต์ กดแชร์โพสต์เพื่อลุ้นรับรางวัล และนั่นทำให้ยอดการเข้าถึง (Reach) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) เพิ่มเติม และเป็นอีกช่องทางสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม อาจมีความขัดแย้งกันระหว่างผู้คน ความคิดเห็น จึงทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวเฉพาะกลุ่มเกิดขึ้นมากขึ้น เช่น LinkedIn ที่ผู้คนมักเข้าใจว่าเป็นแหล่งสมัครงานจากบริษัทใหญ่ ต้อนรับบุคลากรมืออาชีพ ซึ่งที่นี่ยังมีบริการอื่น ๆ เช่น คอร์สพัฒนาทักษะฟรี, การแนะนำประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงในวงการต่าง ๆ, GitHub ชุมชนโปรแกรมเมอร์ที่มีโค้ดต่าง ๆ มาแบ่งปันกัน ฯลฯ
ความแตกต่างระหว่าง โซเชียลมีเดีย และ โซเชียลเน็ตเวิร์ก
(What is the difference between Social Media and Social Network ?)
จะเห็นได้ว่าทั้ง Social Media และ Social Network(ing) นั้น จัดว่าเป็นของคู่กัน โดยที่ Social Media เป็นสื่อกลางออนไลน์ที่ก่อให้เกิด Social Network การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดเครือข่ายระหว่างผู้คนซึ่งกันและกัน ซึ่ง Social Network จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หาดขาดสื่อ Social Media ที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปใช้งานจนเกิดเป็นเครือข่าย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน หรือ รูปแบบใด ๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำนี้มีนิยามที่เหมือนกันก็คือ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการบอกเล่าปากต่อปาก จึงจะเกิดเป็นกลุ่มคน เครือข่ายใหญ่ขึ้นได้ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียนั้น ๆ เพิ่มขึ้น แต่เรื่องของคุณสมบัติ ฟีเจอร์การใช้งานในแพลตฟอร์มนั้น ๆ จะเป็นตัวตัดสินว่าผู้ใช้งานแบบไหนเหมาะกับโซเชียลมีเดียแบบใด แพลตฟอร์มไหนเหมาะกับชีวิตส่วนตัว แบบไหนเหมาะกับการส่งเสริมธุรกิจ องค์กร รวมถึงประเภท รูปแบบเนื้อหาที่ใช้ของแต่ละแพลตฟอร์ม
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/business-people-with-connection-icons_3585358.htm
ยกตัวอย่างเช่น Facebook ส่วนตัว กับ Facebook แฟนเพจ มีความแตกต่างตั้งแต่จุดประสงค์การใช้งาน เนื้อหาบน Facebook ส่วนตัวเกิดจากเจ้าของบัญชีนั้น ๆ เพื่อแชร์ความเห็นส่วนตัว โพสต์รูปภาพ เพื่อพูดคุยกับเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักจำนวนหลักสิบหรือหลักร้อย แต่ว่า Facebook แฟนเพจต้องสร้างและส่งเนื้อหาเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ กลับมา เช่น ผลลัพธ์ทางธุรกิจ การประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มคนจำนวนมาก การโต้ตอบจากกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ ฯลฯ
แม้การรวมกลุ่มคน การสร้างชุมชนจะเกิดขึ้นได้แม้ไม่มี Social Media แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน สื่อโซเชียลออนไลน์นี่แหละที่ดึงดูดการรวมกลุ่มให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายมาก ฉะนั้น Social Network จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดสื่อกลางที่เป็นจุดเริ่มต้นอย่าง Social Media