Social Detox คืออะไร ? เริ่มต้นยังไงได้บ้าง ? พร้อมวิธีถอนตัวจากการเสพติดโซเชียลมีเดีย

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 12,687
เขียนโดย :
Social Detox คืออะไร ? เริ่มต้นยังไงได้บ้าง ? พร้อมวิธีถอนตัวจากการเสพติดโซเชียลมีเดีย
Social Detox คืออะไร ? เริ่มต้นยังไงได้บ้าง ? พร้อมวิธีถอนตัวจากการเสพติดโซเชียลมีเดีย
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 12,687
เขียนโดย :

Social Detox คืออะไร ? เริ่มต้นยังไงได้บ้าง ?
และ วิธีถอนตัวจากการเสพติดโซเชียลมีเดีย

นอกเหนือไปจากปัจจัย 4 ที่เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นในชีวิตแล้ว อีกสองสิ่งที่แทบจะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับคนยุคนี้ก็ได้แก่ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter, LINE, YouTube, Clubhouse, WhatsApp, Pinterest, Snapchat และแอปพลิเคชันต่าง ๆ อีกมากมายในเครื่องของเรา (ยังไม่รวมเกมมือถืออีกจำนวนหนึ่งด้วยนะ)

ซึ่งการเข้ามามีอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ก็เป็นช่องทางดี ๆ ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ง่ายขึ้นและช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก เพราะนอกจากเราจะสามารถติดตามข่าวสารบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของเพื่อน ๆ และคนรู้จักได้แล้ว มันยังเป็นช่องทางที่ทำให้เราสามารถติดตามศิลปินหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เราชื่นชอบได้อีกด้วย

แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้มีแค่ข้อดีเพียงอย่างเดียว เพราะมันทำให้หลาย ๆ คนติดโซเชียลและใช้เวลาชีวิตไปกับแอปพลิเคชันเหล่านี้จนอาจละเลยสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างการเรียน, การทำงาน หรือชีวิตประจำวันไปได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "FOMO (Fear of Missing Out)" ขึ้นมาได้อีกด้วย

FOMO (Fear Of Missing Out) นั้น เป็นคำเรียกกลุ่มบุคคลที่ “กลัวว่าจะตามเทรนด์ต่าง ๆ ไม่ทัน” หรือกลัวพลาดข่าวสารบ้านเมืองในตอนนั้นจนทำให้นำไปสู่พฤติกรรมการติดโซเชียลและใช้งานโซเชียลมีเดียจนเกินพอดีที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันขึ้นมาได้

แต่พฤติกรรมการติดโซเชียลนั้นก็ไม่ได้แปลว่าบุคคลนั้นจะมีอาการ FOMO เสมอไป เพราะมันขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ติดยูทูปเพราะชื่นชอบในการดูรายการทำอาหารหรือแคสต์เกม, เล่น Instagram เพราะต้องการมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำงานและติดตามชีวิตของศิลปินที่เราชื่นชอบ หรือเล่น Clubhouse เพื่อเข้าไปฟังการถกเถียงในประเด็นที่เราสนใจ เป็นต้น

โดยการกระทำที่ยกมาข้างต้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นอาการ FOMO เพราะผู้ที่เป็น FOMO นั้นจะรู้สึกว่าตนเองจะ “พลาด” สิ่งต่าง ๆ บนโลกโซเชียลไม่ได้เลย เช่น ไถดูฟีดบนแอป Twitter หรือ รีเฟรช แฮชแท็ก (Hashtag) ที่ติดตามซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด หรือเข้า Facebook แล้วรีเฟรชหน้า Feed เป็นประจำ

Social Detox จากอาการ FOMO (Fear Of Missing Out)
ภาพจาก : https://helios-i.mashable.com/imagery/articles/05P36u4K5NscHkn0LHM2dlH/hero-image.fill.size_1248x702.v1611612975.jpg

อันที่จริงแล้วเราก็เคยมีอาการ FOMO อยู่ช่วงหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นแล้วจึงรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรืออาการที่เกิดได้ยากเลยในปัจจุบันนี้ เพียงแต่หากเรารู้เท่าทันและต้องการที่จะปรับแก้ พยายามลดช่วงเวลาในการเล่นโซเชียลลงและไม่พะวงกับสิ่งที่อยู่ในจอสมาร์ทโฟนมากกว่าสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริง ทำ Social Detox เพื่อปรับพฤติกรรมตัวเองให้หายจากอาการ FOMO มาเป็น JOMO (Joy Of Missing Out) หรือกลุ่มคนที่มีความสุขกับการไม่ต้องตามเทรนด์มากมายอะไรแทนก็น่าจะดีไม่น้อย

 

เนื้อหาภายในบทความ

 

Social Detox คืออะไร ?
(What is a Social Detox ?)

ถ้าพูดถึงคำว่า Detox หลาย ๆ คนก็อาจนึกไปถึงการขับของเสียออกจากร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น Social Detox เองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน แต่มันไม่ได้เป็นการขับของเสียออกมาจากร่างกายจนเห็นได้ชัดเจนอย่างการ Detox ลำไส้ เพราะ Social Detox เป็นเพียงการลดการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ลงและหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากการจ้องจอสมาร์ทโฟน, แท็บแล็ต หรือคอมพิวเตอร์ หรืออาจเรียกว่าการหันความสนใจของเรา “กลับไปสู่โลกความเป็นจริง” นอกเหนือไปจากสิ่งที่อยู่ในจอนั่นเอง

และหากปัญหาของคุณในการใช้งานโซเชียลคือการ “หาอะไรทำในเวลาว่าง” หรือแก้เบื่อแก้เซ็งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเพราะสามารถทำการ Social Detox แก้ได้ง่าย ๆ แต่หากเป็นการกลัวพลาดข่าวสารต่าง ๆ หรือกลัวตามเทรนด์ไม่ทันและมีอาการ FOMO นั้นก็อาจจะแก้ยากหน่อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถทำได้หรือยากเกินความสามารถของคุณอย่างแน่นอน

Social Detox คืออะไร ?
ภาพจาก : https://resetyoureveryday.com/a-digital-detox-heres-how-social-media-affects-your-hormones/

เริ่มทำ Social Detox ยังไงดีนะ ?
(How to start a Social Detox ?)

ในส่วนของวิธีการทำ Social Detox ก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่ในเบื้องต้นก่อนที่เราจะเริ่มทำ Social Detox นั้นตัวผู้ใช้เองจะต้องทำการสำรวจการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือการใช้งานสมาร์ทโฟน / แท็บเล็ตของตนเองเสียก่อน เช่น

  • สังเกตตัวเองว่าเราหยิบ สมาร์ทโฟน / แท็บเล็ตมาใช้ในช่วงเวลาใดบ้าง ? ตัวอย่างเช่น
    • เวลาว่าง
    • ขณะนั่งรถโดยสาร
    • ช่วงเช้า
    • ระหว่างทำงาน
    • ช่วงกลางวัน หรือ ตอนพักเที่ยง
    • ตอนเย็นหลังเลิกเรียน
    • ก่อนนอน
  • จุดประสงค์ในการหยิบขึ้นมาใช้นั้นทำไปเพื่ออะไร ? เช่น
    • แก้เบื่อ ไม่รู้จะทำอะไรในตอนนั้น
    • ติดตามข่าวสารประเด็นที่สนใจ
    • มีการแจ้งเตือนขึ้นมาและจำเป็นต้องตอบกลับ
    • มีการแจ้งเตือนแต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ก็ยังกดเข้าไปดูเพื่อเล่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
    • ดูวิธีการทำอาหาร / ขนมและทำตามสูตรนั้น
    • กลัวพลาดข่าวสารหรือความเป็นไปต่าง ๆ บนโซเชียล
  • แอปพลิเคชันใดที่เข้าใช้บ่อยที่สุด ?
    • Twitter
    • Facebook
    • Instagram
    • YouTube
    • Clubhouse
    • Snapchat
    • แอปพลิเคชันอื่น ๆ
  • ใช้เวลาในการเล่นโซเชียลนานขนาดไหนต่อครั้ง ?
    • ต่ำกว่า 5 นาที
    • 5-15 นาที
    • 15-30 นาที
    • 30-60 นาที
    • มากกว่า 1 ชั่วโมง
  • ในแต่ละวันเรามีความถี่ในการเล่นโซเชียลมีเดียเหล่านี้นานขนาดไหน ?
    • 1-2 ครั้งต่อวัน
    • 3-5 ครั้งต่อวัน
    • 5-10 ครั้งต่อวัน
    • 10-20 ครั้งต่อวัน
    • 20 ครั้งขึ้นไปต่อวัน

เมื่อเราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลของเราแล้วก็จะได้สามารถปรับลดการใช้งานโซเชียลมีเดียลงและเริ่มทำการ Social Detox ได้ตามความถนัดของตนเอง เพราะการทำ Social Detox นั้นไม่ได้มีวิธีการตายตัวและสามารถทำตามขั้นตอนอย่างชัดเจนเหมือนกันทุกคน แต่มันเป็นการค้นหาสิ่งที่เราจะทำเมื่อไม่ได้จับโทรศัพท์หรือเล่นโซเชียลนั่นเอง โดยอาจเป็นการทำงานอดิเรกอื่น ๆ ที่เคยทำอยู่เป็นประจำก่อนที่จะติดมือถือ หรือเป็นการหากิจกรรมใหม่ ๆ ให้กับตนเองก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังนึกไม่ออกก็ลองทำตามวิธีด้านล่างนี้ดูเผื่อจะเกิดไอเดียในการทำ Social Detox ในแบบฉบับของตนเองขึ้นมาก็ได้

เริ่มทำ Social Detox ยังไงดีนะ ?
ภาพจาก : https://www.vecteezy.com/vector-art/1953583-fomo-vs-jomo-concept

เริ่มทำ Social Detox ยังไงดีนะ ?
(How to start a Social Detox ?)

ตั้งวอลเปเปอร์ / ภาพล็อกสกรีนเตือนใจ

สำหรับผู้เริ่มต้นทำการ Social Detox อาจเลือกตั้งรูปวอลเปเปอร์หรือภาพล็อกสกรีนเตือนใจเอาไว้เวลาเผลอหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเล่นก็เป็นหนึ่งในวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้เรารู้สึกตัวว่าตอนนี้กำลังจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นอีกแล้วนะ ถ้าไม่ได้มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้งานก็วางโทรศัพท์ลงแล้วหันไปทำอย่างอื่นทดแทน เช่น การอ่านหนังสือ, การออกกำลังกาย, การทำความสะอาดบ้าน หรือจะเลือกนอนเฉย ๆ บนโซฟาและไม่ทำอะไรเลยเป็นการพักสายตาก็ได้เช่นกัน

ตั้งวอลเปเปอร์ / ภาพล็อกสกรีนเตือนใจ
ภาพจาก : https://www.phillyvoice.com/5-tips-digital-detox/

ลดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือจับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

แน่นอนว่าการทำ Social Detox นั้นก็จะต้องลดการใช้งานโซเชียลมีเดียลง ซึ่งการลดเวลาการใช้งานนั้นก็ทำได้หลากหลายวิธี อาจเป็นวิธีการตั้งเวลาเล่นโซเชียลให้เป็นเวลาหรือจำกัดเวลาการเล่นโซเชียลก็ได้เช่นกัน ซึ่งมันก็มีตั้งแต่วิธีสุดเบสิกอย่างการบอกและสัญญากับตัวเองว่าจะเล่นไม่เกิน 10 นาทีก่อนเข้านอน, เขียนแผนกำหนดช่วงเวลาการเล่นโซเชียลของตนเองในแต่ละวัน, ตั้งนาฬิกาเตือนเมื่อเล่นเพลินจนเกินเวลาที่กำหนดไว้ (หรือตั้งเวลาระบุช่วงเวลาเล่นโซเชียล)

ลดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือจับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
ภาพจาก : https://i0.wp.com/theacademicdesigner.com/wp-content/uploads/2021/05/Time-for-a-break-clockface-graphic.jpg?fit=1200%2C675&ssl=1

พึ่งพาตัวช่วยอื่น ๆ

ถ้าหากว่าตัวเราคนเดียวนั้นรู้สึกว่าการทำ Social Detox และการหักห้ามใจในการเล่นโซเชียลต่าง ๆ เป็นเรื่องยากแล้วละก็ อาจหันไปพึ่งพาตัวช่วยอื่น ๆ อย่างการบอกคนรอบข้างว่าให้ช่วยสะกิดเตือนเมื่อเห็นเราเล่นโทรศัพท์และหันมาสนใจกับสิ่งที่สมควรจะทำตรงหน้า (เช่น รับประทานอาหาร, พูดคุยกับคนในครอบครัว) ก็เป็นอีกวิธีที่ดีเช่นกัน

นอกจากนี้มันยังมีตัวช่วยที่ให้เราสามารถลด ละ เลิกพฤติกรรมการติดโซเชียลอย่างแอปพลิเคชันตัวต่าง ๆ ที่จะมาช่วยลดพฤติกรรมการติดโทรศัพท์ของเราลงได้อีกด้วย เช่น OFFTIME, App Block, Stay Focus, Forest หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่จะล็อกโทรศัพท์ของเราไม่ให้ปลดล็อกมาใช้งานในเวลาที่ตั้งค่าเอาไว้ว่าจะไม่แตะสมาร์ทโฟนของเรา หรือมีสิ่งล่อใจที่ช่วยให้เราห้ามใจไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นในช่วงเวลาที่จำกัดการใช้งานอยู่ (ในที่นี้ขอแนะนำแอปพลิเคชัน Forest เนื่องจากเคยใช้งานมาก่อน)

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Forest ในระบบ iOS ได้ที่นี่

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Forest ในระบบ Android ได้ที่นี่

โดยตัวแอปพลิเคชัน Forest ที่เราเคยใช้งานก็จะให้ผู้ใช้ทำการกำหนดระยะเวลาที่ต้องการจะหยุดใช้งานโทรศัพท์และเลือกต้นไม้ที่ต้องการจะปลูกภายในแอปพลิเคชันขึ้นมา ซึ่งหากเรากดใช้งานโทรศัพท์ก่อนครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ก็จะทำให้ต้นไม้ที่ตั้งใจปลูกนั้นตายลงนั่นเอง แต่หากงดเล่นสมาร์ทโฟนได้ตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ก็จะได้เหรียญภายในแอปพลิเคชัน ที่เราสามารถนำเอาไปกดใช้งานเพื่อให้ทางทีมงาน Forest ดำเนินการปลูกต้นไม้จริง ๆ ได้อีกด้วย

สไลด์รูปภาพ

 แอปพลิเคชัน Forestแอปพลิเคชัน Forestแอปพลิเคชัน Forestแอปพลิเคชัน Forest

ภาพจาก : https://www.forestapp.cc/

ลบแอปพลิเคชันทิ้ง

ใครที่ใจกล้าหน่อยอยากลองหักดิบตัวเองด้วยการตัดใจลบแอปพลิเคชันโปรดทิ้งไปก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลทันตาเช่นดัน เพราะเมื่อไม่มีแอปพลิเคชันที่เราติดอยู่บนเครื่องแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรจนต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน (แต่ต้องไม่ไปเล่นบนเครื่องอื่นหรือหาแอปพลิเคชันอื่นมาเล่นทดแทนด้วยนะ)

ลบแอปพลิเคชันทิ้ง
ภาพจาก : https://blog.vantagefit.io/social-media-detox/

ประโยชน์ของการทำ Social Detox
(Social Detox Benefits)

นอกจากที่การทำ Social Detox จะช่วยให้เราสามารถลดอาการติดโซเชียลลงและลดอาการ FOMO ได้แล้ว มันยังส่งผลดีต่อร่างกายของเราอีกด้วย เพราะในทุก ๆ วันที่เราจ้องจอก็เป็นการทำร้ายสายตาไปทีละน้อย โดยเฉพาะกับผู้ที่ชอบนอนเล่นมือถือก่อนนอนในห้องที่ปิดไฟมืด ๆ ก็ยิ่งทำให้ดวงตาของเราทำงานหนักขึ้นมากเลยทีเดียว การทำ Social Detox จึงเป็นหนึ่งในวิธีการช่วยถนอมสายตาหรือพักสายตาของเราด้วย

และวิธีที่เลือกใช้เพื่อทำ Social Detox เองก็ส่งผลดีต่อร่างกายของเราในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ผู้คนที่เลือกการออกกำลังกายก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น หรือผู้ที่หันไปอ่านหนังสืออาจจะไม่ได้ลดการใช้สายตาลงมากนักแต่ก็ไม่มีแสงสีฟ้า (Blue Light) จากจอแก้วมาทำลายประสาทตา แถมยังช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเราได้อีกด้วย หรือผู้ที่เลือกการทำความสะอาดบ้านก็แน่นอนว่าจะได้บ้านที่สะอาดไร้ฝุ่นและเป็นการขยับกล้ามเนื้อคล้ายการออกกำลังกายไปในตัว ไม่ได้นั่งหรือนอนแช่ท่าเดิมนาน ๆ เหมือนเวลาเล่นโซเชียลที่อาจทำให้เกิดปัญหาการปวดกล้ามเนื้อคอและแขนได้

ประโยชน์ของการทำ Social Detox
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/fomo-vs-jomo-illustrated_9909030.htm